นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือ 10 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยและจีน ในโอกาสนำคณะนักธุรกิจจีนกว่า 500 รายลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนจากจีนเห็นถึงความตั้งใจของไทยในการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำเพื่อสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน แบ่งเป็นการร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ระหว่างเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ กับระหว่างรัฐบาลจีนและไทย ความร่วมมือกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และกลุ่มขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสมาร์ทซิตี้

นายคณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการ สำนักงานอีอีซี กล่าวว่า อีอีซีจะเป็นท่าเรือที่สำคัญในการระบายสินค้าของจีนตอนใต้ สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งในขณะนี้สินค้าจากสปป.ลาวก็ส่งผ่านมาที่ท่าเรือ อีอีซี 100% และสินค้าจากกัมพูชา 80% ก็ผ่านท่าเรืออีอีซี ซึ่งหากเกิดความร่วมมือตลอดเส้นทางก็จะช่วยให้ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน

ขณะนี้จีนมีความสนใจโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอย่างมาก มีบริษัทจีน 7 บริษัทซื้อซองขอเข้าดูข้อมูลขอบข่ายการประมูล คาดจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนก.ย.ตามแผนที่วางไว้ โดยมั่นใจจะมีเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาอย่างแน่นอนภายใน 6 เดือน

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้น ภายในเดือนต.ค.นี้เตรียมออกหนังสือเชิญชวนนักลงทุน (ทีโออาร์) วงเงินลงทุน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะการลงทุน 5 ปี รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนภายใน 10-15 ปี จากปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินอุ่ตะเภา 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากก่อนที่มีเพียง 7 แสนคน เนื่องสนามบินดอนเมืองแออัดเกินความจุ 17 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางมาเที่ยวที่พัทยา 10 ล้านคน ดังนั้นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะช่วยรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวและผลักดันเป็นฮับการท่องเที่ยว และเป็นมหานครการบินภาคตะวันออกภายใน 15 ปี

นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยวางแผนให้อีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยงซีแอลเอ็มวี ถ้าอีอีซีและซีแอลเอ็มวีแข็งแกร่ง โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็จะมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยกลุ่มซีแอลเอ็มวีทีจะเป็นตัวเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในแนวอิสเวสคอเรลดอร์ และนอร์ทเวสคอเรลดอร์

อย่างไรก็ตาม เส้นทางนอร์ทเซาคอเรลดอร์ จะเชื่อมตั้งแต่เมืองคุนหมิงจีนตอนใต้ มายังเมืองบ่อหาน เวียงจันทน์ของสปป.ลาว เข้ามายังไทยที่หนองคาย ขอนแก่น และมาที่ อีอีซี ส่วนเส้นทางอิส เวส คอเรลดอร์ จะเริ่มตั้งแต่ จ.ทวายของเมียนมา เข้าไทยที่กาญจนบุรี กรุงเทพ อีอีซี สระแก้ว พนมเปญ โฮจินมินห์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน