นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ว่า ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จาก 3.1% เป็น 3.2% เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ดีของภาคการส่งออกหลังจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยให้ขยายตัวดีขึ้น 1.0% ในปีหน้า ประกอบกับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐที่เริ่มดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในส่วนของรถไฟร่างคู่และการยกระดับระบบรางทั่วประเทศที่จะสืบเนื่องมาจากปีนี้

อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนของรัฐก็จะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าเช่นเดียวกับปีนี้ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่เป็นไปอย่างเข้มแข็งปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 13.1% ยังเป็นแรงส่งต่อในปีหน้า ในขณะที่แม้ว่าการส่งออกจะมีสัญญาณที่ดี แต่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในประเทศแถบยุโรป พร้อมกันนนี้ยังต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ไม่มีความแน่นอนด้วย โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit และนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ปรับเร็วขึ้นยังกดดันการส่งออกของไทย

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารโลกยังได้ปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากเมื่อต้นปีประมาณการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1% เพราะการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการคลังมีประสิทธิภาพ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต ในขณะที่ภาคการเกษตรฟื้นตัวหลังผ่านสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนาน ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเลื่อนออกไปในช่วงการถวายความอาลัยนั้น ได้รับการชดเชยจากมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศช่วงสิ้นปี

“การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยปีละ 3% ถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรเติบโตได้ 4% ดังนั้นขอเสนอแนะให้รัฐบาลปฏิรูปภาคบริการให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันภาคบริการมีการจ้างงานสูงถึง 40 % ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 50% ของจีดีพี หากเทียบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพียง 15% แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 35%ของจีดีพี โดยการปฏิรูปภาคบริการควรปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ การออกใบอนุญาต เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันและเปิดกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาบริการต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเกิดความร่วมมือด้านการค้ามากขึ้น ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วภาคบริการจะมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี ซึ่งหากไทยเริ่มทำการปรับปรุงภาคบริการ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเฉลี่ยได้ 4-5% ต่อเนื่อง และมีโอกาสหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน