คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร เสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น ลดภาษีบุคคลธรรมดาใกล้เคียงนิติบุคคลเหลือ 25% และขยายวงเงินขึ้นทะเบียนภาษีแวตเป็น 10 ล้าน

เสนอโละภาษีสรรพากร – นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎาของกรมสรรพากรจากประชาชน โดยมีการเสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ ที่เป็นอิสระจากกรมเก็บภาษี เพื่อกำหนดนโยบายการเก็บภาษีโดยคำนึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีควรเป็นคนนอกไม่ใช่จากกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง

ในเรื่องที่ 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสนอปรับเงินได้ให้เหลือ 3 ประเภท คือ เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน และเงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ยและเงินได้จากธุรกิจอื่นๆ และให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ตามประเภทของประเภทเงินได้ จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาลดลงจากปัจจุบันสูงสุด 35% ให้อยู่ระดับ 25% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล เป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมที่ต้องการประกอบธุรกิจแต่ยังไม่พร้อมจะเป็นนิติบุคคล

สำหรับเรื่องที่ 3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีแล้วภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีก 10% ทำให้มีภาระภาษีรวมประมาณ 28% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนราคาสินค้าบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง

ขณะที่เรื่องที่ 4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีแวต จากปัจจุบันต้องจดทะเบียนภาษีแวตเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็นเกิน 10 ล้านบาทต่อปี แก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแวต เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีแวต จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน

สำหรับเรื่องที่ 5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และเรื่องที่ 6 ภาษีอากรแสตมป์ เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีอื่น และมีจำนวนน้อยและมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายสรรพากรดังกล่าว เชื่อว่าช่วยขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทยให้สูงขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากประชาชน 60 ล้านคน จากปัจจุบันมีคนอยู่ในระบบภาษีเพียง 10 กว่าล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 3 ล้านคน รวมถึงการขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันอยู่ในระบบ 4 แสนราย เทียบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีถึง 3 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีคนอยู่นอกระบบภาษีอยู่มาก

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอการแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรให้คณะกรรมการดำเนินการปฎิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน เพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาเขียนร่างแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรไม่เกิน 5 เดือน โดยจะนำข้อมูลจากการรับฟังความเห็นจากประชาชนไปใช้เป็นข้อมูลในการเขียนร่างกฎหมายด้วย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพราะหากทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งใหม่อาจจะไม่ดำเนินการต่อ เพราะเรื่องของการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ เพราะทำให้เสียความนิยมได้

ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2562 กรมมีเป้าหมายต้องเก็บภาษีให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ได้ตามเป้าหมาย สำหรับการแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรอยากให้คณะกรรมการฯ ทำการแก้ไขกฎหมายรองรับการเก็บภาษีในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะการทำธุรกิจจะอีบิซิเนสและดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้การเก็บภาษีต้องทันกับการเปลี่ยนที่รวดเร็วดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน