สศอ. เผยเอ็มพีไอเดือนส.ค.อยู่ที่ 113.04 บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 แต่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จับตาปัจจัยเสี่ยงภายนอกลากยาว

เอ็มพีไอ ส.ค.ขยายตัวต่ำสุด – นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนส.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 113.04 เพิ่มขึ้น 0.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 112.30 แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 แต่ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือนเช่นกัน เนื่องจากเทียบกับฐานของปีก่อนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุตสาหกรรมยาสูบติดลบ 48% และอุตสาหกรรมสุราติดลบ 37% ซึ่งเป็นการติดลบมาตลอดทั้งปี เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนนี้อยู่ที่ 65.87% ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เมื่อพิจารณาจากดัชนีเอ็มพีไอรวม 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.2561) ยังขยายตัวได้ 3.6% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 1.5%

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนส.ค. ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขยายตัว 91.2% เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตอ้อยมาก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 12.39% ขยายตัวตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ 32.22% เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นและอินเดีย น้ำมันปิโตรเลียม 7.43% ขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ

เอ็มพีไอ ส.ค.ขยายตัวต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งมองว่า ขณะนี้เป็นได้ทั้งบวกและลบ และมีแนวโน้มที่จะอาจจะลากยาวออกไป เพราะยังไม่เข้าเป้าของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งหากลากยาวก็จะกระทบทั้งโลก จึงต้องรอดูว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีมาตรการอะไรออกมาตอบโต้กันอีกระลอก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมีแผนรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอาจกระทบการผลิตที่เป็นชัพพลายเชนของไทยได้

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มลุกลามจากผลกระทบสงครามการค้า เนื่องจากตามธรรมชาติเงินจะไหลออกไปหาตลาดที่มีความนิ่งและปลอดภัย โดยเฉพาะค่าเงินจากประเทศที่มีความเสี่ยงมากอย่างอาร์เจนตินา ตรุกี ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่งผลให้หลายคนกังวลว่าวิกฤตค่าเงินจะลุกลามไปหลายๆ ประเทศมากขึ้น

“สศอ.จึงยังไม่ปรับคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2561 โดยยังคงคาดการณ์อยู่ในกรอบ 2.5-3% และคงคาดการณ์จีดีพีอุตสาหกรรมไว้ที่ 3-4% เนื่องจากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีฐานสูง และมองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วก็ตาม เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่อง”นายณัฐพล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน