นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ว่า หลังจากนี้ ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการปฏิรูปการรถไฟให้เป็นรูปธรรม โดยต้องลดการขาดทุน และสร้างรายได้ให้ได้มากกว่าเดิมอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดผลการขาดทุนของการเดินรถที่ปัจจุบันขาดทุนอยู่ประมาณ 7,500 ล้านต่อปี ส่วนแอร์พอร์ตลิ้งค์ขาดทุนประมาณ 280-300 ล้านต่อปี ซึ่งการที่ ร.ฟ.ท.ขาดทุนในลักษณะนี้ทำให้ต้องขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐอยู่ทุกปี ถือเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชน และ ร.ฟ.ท.ก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาไปข้างหน้าด้วย จึงเป็นเรื่องที่ตนเป็นห่วงและอยากให้แก้ไขโดยด่วน

พิชิต อัคราทิตย์

นายพิชิต กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปการรถไฟ เพื่อลดการขาดทุนนั้น ให้ ร.ฟ.ท. จัดตั้งบริษัทพัฒนาบริหารสินทรัพย์การรถไฟ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% แต่บริหารจัดการจะมีความคล่องตัวแบบเอกชน ซึ่งจะช่วยทำให้การรถไฟสามารถดูแลทรัพย์สินที่มีอยู่มหาศาล โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ ที่มีอยู่ประมาณเกือบ 40,000 ไร่ ให้สามารถหาผลตอบแทนได้อย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 3,000 กว่าล้านต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานของตลาดค่อนข้างมาก

เมื่อดูตัวเลขผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ของรถไฟปัจจุบันอยู่ที่ 1% เท่านั้น ขณะที่องค์กรอื่นๆ ซึ่งใกล้เคียงกับ ร.ฟ.ท. สามารถทำได้ถึง 4-5% จึงเชื่อว่าการบริหารสินทรัพย์ในครั้งนี้จะทำให้รายได้ของ ร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยให้ ร.ฟ.ท.สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ขณะนี้มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายแน่นอน ทั้งนี้มั่นใจว่าภายในปีหน้า ร.ฟ.ท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน และอีก 2 ปีน่าจะเห็นชัดเจนว่าสามารถปลดหนี้ได้หรือไม่

ต่อข้อถามว่าการบริหารจัดการสินทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินจะมีผลต่อการปรับค่าเช่า และจะมีผลกระทบต่อผู้เช่าด้วยหรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ย้ำกับ ร.ฟ.ท. แล้วว่า ต้องดูแลให้เป็นไปตามอัตราของตลาด ไม่เอาเปรียบประชาชนและต้องไม่กระทบกับผู้เช่ามากเกินไป อาจจะค่อยๆ ปรับ ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. บริหารจัดการในลักษณะที่ต่ำเกินไป หรืออาจจะไม่ได้เก็บค่าเช่าด้วย ดังนั้นหากไม่มีการบริหารจัดการกันใหม่ก็เหมือนกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของการรถไฟถูกคนอีกกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบ

นายพิชิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ให้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงการเดินรถ เพราะปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการมีทุกกลุ่ม ทั้งผู้มีรายได้น้อย และรายได้มาก แต่กลับได้รับการบริการแบบเดียวกัน ซึ่งทางการตลาดนั้นจำเป็นต้องมีการแบ่งกลุ่มผู้โดยสาร เพื่อจะได้ให้บริการได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม โดยกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐที่ต้องให้การดูแลอย่างดี ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้มากสามารถที่จะใช้บริการที่มีราคาสูงขึ้นได้ ทาง ร.ฟ.ท.ก็ต้องเข้าไปดูแล เช่นมุ่งเน้นการท่องเที่ยว หรือการจัดบริการรถไฟเพื่อคนทำงาน ซึ่งมีหลายคนที่อยู่ชานเมืองและต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ทาง ร.ฟ.ท. ก็ต้องดูแลให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้สามารถใส่สูทหิ้วกระเป๋าเข้ามาทำงานในเมืองได้ เป็นต้น

“ขณะนี้ ร.ฟ.ท. มีหนี้สินอยู่ประมาณแสนล้านบาท ซึ่งก็จะใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ เชื่อว่าน่าจะบริหารจัดการได้ไม่อยาก เพราะร.ฟ.ท.เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูงในการทำรายได้ เนื่องมาจากทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน สถานีแม่น้ำ และบางซื่อ เป็นพื้นที่ที่สวยที่สุดสามารถทำรายได้ให้การรถไฟฯ และประเทศได้มหาศาล อีกทั้งยังมีผลในการพัฒนาเมืองให้กรุงเทพฯ ก้าวขึ้นเป็นมหานครระดับโลกด้วย”นายพิชิต กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน