นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนอละอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังงานแถลงข่าวการจัดงาน Thailand ESCO FAIR 2018 ว่า พพ. เตรียมหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขระเบียบกระทรวงให้สามารถแบ่งผลตอบแทนในการประหยัดพลังงานใหักับสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย (ESCO) ได้ เพื่อไม่ให้ขัดต่อข้อกฎหมายที่ว่าค่าใช้จ่ายที่เหลือหรือจากการประหยัดได้ ต้องคืนกระทรวงการคลังทั้งหมด เนื่องจาก พพ. ได้ร่วมกับสมาคมฯ เพื่อจัดทำการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐรวมกว่า 860 อาคาร เพื่อปรับเปลี่ยนระบบในอาคาร ทั้งไฟฟ้า แอร์ เป็นต้น เพื่อการประหยัดพลังงาน

“การทำโครงการนี้จะเป็นการให้ ESCO ลงทุนไปก่อน และหากได้ผลตอบแทนค่อยคืน ซึ่งอยู่ที่ตกลงกันว่าจะแบ่งกันสัดส่วนเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันยังติดข้อกฎหมายของกระทรวงการคลังอยู่ รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่หากสามารถทำได้ ESCO ก็จะมีการการันตีผลตอบแทนที่จะได้กลับคืนมาแน่นอน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและมากำหนดใช้ในปี 2562”นายโกมล กล่าว

ขณะเดียวกัน พพ. จะต้องมีการทบทวนโครงการที่ขอใช้เงินกองทุนเพี่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คือโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และโครงการด้านพลังงานทดแทน โดยต้องสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอนุรักษ์พลังงานจาก พพ. อีกครั้ง เนื่องจากงบประมาณของกองทุนฯ ประจำปีงบ 2562 มีประมาณ 1.04 หมื่นล้านบาท ขณะที่ พพ. ขอใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้น พพ. จะต้องยึดหลักเกณฑ์สำคัญคือ อันดับแรกต้องพิจารณาโครงการภาคบังคับก่อน

นอกจากนี้การดำเนินงานเรื่องออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดประเภทหรือขนาดอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. … หรือ บีอีซี เพื่อเป็นมาตรฐานบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเบื้องต้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว และได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อกฎหมาย หากแล้วเสร็จจะมีการบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไปเป็นอันดับแรก และจากการสำรวจจะมีอยู่ประมาณ 100 อาคารทั่วประเทศ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้

“ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เราก็พยายามให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้น โดยในปี 2563 ก็จะกำหนดใช้กับอาคารที่มีพื้นที่ 5,000 ตร.ม. ขึ้นไป และในปี 2564 จะกำหนดใช้กำอาคารที่มีพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป โดยพพ. กำลังจะสร้างเครือข่ายกับหลายหน่วยงานให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งหากอาคารไหนมีการกำหนดใช้จะสามารถประหยัดการพลังงานได้แน่นอน 10% แต่จะมีความสามารถประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไรอยู่ที่อาคารนั้นๆ จะนำมาใช้ในรูปแบบไหน และอยู่ที่สถาปนิกและวิศวกรที่ออกแบบ”นายโกมล กล่าว

นายอรรถพร โรจนารักษ์ นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ร่วมมือกับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินการต่างๆ ในการส่งเสริมสนับสนุนบริษัทจัดการพลังงาน ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานการทำงานสำหรับบริษัทจัดการพลังงานไทย และคู่มือมาตรฐานการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงาน เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานและยกระดับบริษัทจัดการพลังงานไทยให้เป็นที่ยอมรับในประเทศ และมีความน่าเชื่อถือเทียบเคียงได้กับระดับสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน