คมนาคม กางแผนขนส่งอากาศ ระยะ 15 ปี ทุ่ม 2.2 แสนล้าน ปั้นไทย ฮับ “เชื่อมโยงการบินภูมิภาคและฮับผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน” ชงครม.ไฟเขียวแผนปลายปีนี้

ปั้นไทยฮับการบิน – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนานำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความเห็นการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยว่า ในปี 2560 การขนส่งทางอากาศไทยมีมูลค่ามากถึง 12% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินมากกว่า 350,000 เที่ยวต่อปี ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสารประมาณ 38 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินมากกว่า 250,000 เที่ยวต่อปี

ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศมีมูลค่าการส่งออก 8 ล้านล้านบาท และนำเข้า 7.6 ล้านล้านบาท สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทางอากาศสูงถึง 24% จากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณการขนส่งทางอากาศที่เป็นสัดส่วนเพียง 1% ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด

“การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระยะ 15 ปี (ปี พ.ศ. 2562-2576) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก ทั้งทางด้านการเดินทาง ศูนย์ซ่อม และผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการพัฒนาบุคคลกรด้านการบิน โดยสนข. จะนำเสนอแผนให้ครม. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณปลายปีนี้”

นายศรัญ บุญญะศิริ ผู้จัดการโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย กล่าวถึงผลการศึกษาแผนแม่บทระยะ 15 ปีว่า คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาราว 2.2 แสนล้านบาท รวม 87 โครงการ โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วง 10 ปีแรก ระหว่างปี 2562-2571 เตรียมผลักดันให้ไทยเป็นฮับจุดเชื่อมโยงการบินภูมิภาค ทั้งในส่วนของผู้โดยสารและสินค้า (Transfer Hub) โดยตั้งเป้าผลักดันให้มูลค่าธุรกิจการบินทั้งทางตรงและอ้อมเติบโตปีละไม่น้อยกว่า 1.5% ของจีดีพี ส่วนปริมาณผู้โดยสารรวมจะอยู่ที่ 288 ล้านคน/ปี ขณะที่ปริมาณสินค้าอยู่ที่ 1.8 ล้านตันต่อปี

สำหรับระยะที่ 2 ช่วง 5 ปีหลัง ระหว่างปี 2572-2576 จะผลักดันให้ไทยเป็นฮับศูนย์ซ่อมและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Gobal Aviatio Hub) โดยจะมีจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติมในภูมิภาค พื้นที่เป้าหมาย เช่น เชียงราย ตรัง สกลนคร และนครราชสีมา เพื่อซ่อมอากาศยานลำตัวแคบ เนื่องจากศูนย์ซ่อมที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้างเพียงอย่างเดียว โดยตั้งเป้าที่ผลักดันให้มูลค่าธุรกิจการบินทั้งทางตรงและอ้อมเติบโตปีละไม่น้อยกว่า 1.5% ของจีดีพี ปริมาณผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 422 ล้านคน/ปี ส่วนปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตันต่อปี เบื้องต้นคาดว่าไทยจะมีรายได้รวมจากการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ราว 20,000 ล้านบาท/ปี

นายศรัญกล่าวว่า สำหรับโครงการการลงทุนสำคัญๆ ในช่วง 15 ปี มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 87 โครงการ เช่น โครงการจัดตั้งท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Private aircraft) วงเงินรวม 9,400 ล้านบาท ของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2564-2567 โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการ, โครงการพัฒนาระบบการให้บริการจราจรทางอากาศ ของบริษัท วิทยุการบิน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างปี 2562-2563

นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม โครงการสำคัญๆ หลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาให้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เป็น Airport Logistic Park โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อาคารคลังสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทย, โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมเครื่องบินบำรุงอากาศยานในท่าอากาศยานที่มีศักยภาพ โดยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายตลาดศูนย์ซ่อมในไทยให้มากขึ้น เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน