‘อุตตม’เดินหน้า ยกระดับไทยเป็น”ไบโอฮับอาเซียน” ดันอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ “อ้อย-น้ำตาลทราย” ขับเคลื่อนสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ดึงลงทุนกว่า 1.9 แสนล้าน ช่วยชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี ผุดโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาพิเศษ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากอ้อย รวมถึงของเหลือทิ้งจากขบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ด้วยขบวนการผลิตทางชีวภาพ

ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ คาดว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคน ต่อปีอีกด้วย

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมายก็ตาม” นายอุตตมกล่าว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ตามจำนวนตันอ้อย ที่เกษตรกรได้ส่งให้กับโรงงานคู่สัญญาหรือหัวหน้ากลุ่ม โดยในเบื้องต้นกำหนดความช่วยเหลืออยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท/ตันอ้อย แต่จะมีการกำหนดปริมาณตันอ้อยสูงสุด ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5,000 ตันอ้อย รวม 6,500 ล้านบาท

ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยต่าง ๆ รวมทั้งด้านการเพาะปลูกและบำรุงรักษาอ้อยรวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม อีกทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน