เอกชนชี้สถานการณ์ข้าวไทยทรุด คาดปี’62 ส่งออกเหลือแค่ 10 ล้านตัน แถมราคาของไทยสูงลิ่ว แพงกว่าประเทศคู่แข่ง

คาดปี’62 ส่งออกข้าวหด – ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยปี 2562 น่าจะทรุดตัวกว่าปี 2561 และคาดการณ์ปริมาณส่งออกไว้ที่ 10 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำกว่าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ไว้ 11 ล้านตัน และไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 รองจากอินเดียที่คาดว่าจะส่งออกได้ 13 ล้านตัน และเวียดนามเป็นอันดับ 3 ที่ 7 ล้านตัน

สำหรับปี 2561 สมาคมฯ คาดว่าการส่งออกยังได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11 ล้านตัน ดูจากปริมาณส่งออกรวมตั้งแต่ 1 ม.ค.- 23 ต.ค. ไทยส่งออกแล้ว 8.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.1% มูลค่ากว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% หรือประมาณ 1.31 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% และมั่นใจ 2 เดือนที่เหลือปีนี้จะส่งออกได้เกิน 1 ล้านตันต่อเดือน

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทย คือ ความมผันผวนของค่าเงินบาทและเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมองว่าระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐเหมาะสม รวมถึงต้นทุนราคาข้าวสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้พบว่าข้าวเปลือกหอมมะลิไทยในเดือนต.ค.ปีนี้ เทียบปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 35-40% จนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในปัจจุบันสูงสุดที่ 1.8 หมื่นบาทต่อตัน (ความชื้นไม่เกิน 15%) ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ราคาส่งออกสูงถึง 1,150 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าประเทศคู่แข่งขายต่ำกว่า 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน แนวโน้มข้าวเปลือกหอมมะลิอาจสูงได้อีก หากพื้นที่ปลูกเจอภัยแล้ง จึงประเมินไม่ได้ว่าผลผลิตข้าวจะออกสู่ตลาดเท่าไหร่แน่ ทำให้โรงสีเกิดการแย่งชิงซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาทำให้ราคาเพิ่มรวดเร็ว

ร.ต.ท.เจริญ กล่าว จากที่ได้ลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวในอีสาน เรื่องน่าห่วงคือ ข้อมูลผลผลิตจริงออกสู่ตลาดนั้นเท่าไหร่แน่ เพราะบางพื้นที่เจอแล้งแต่ชาวนาไม่ยอมแจ้งทางการเพื่อขอชดเชยไร่ละ 1,100 บาท และรายละไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งหากไม่แจ้งจะได้รับเงินช่วยเหลือจากปลูกข้าวไร่ละ 1,500 บาท และรายละไม่เกิน 15 ไร่ ทำให้ชาวนาไม่แจ้งขอความช่วยเหลือว่าเป็นผู้ประสบภัยแล้ง จึงไม่รู้ชัดว่าผลผลิตจริงเท่าไหร่ อีกเรื่องคือ ปัญหาใช้สารเกินจนอาจเกิดสารตกค้างและปนเปื้อนสูงขึ้น ซึ่งประเทศนำเข้าเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หากเกิดปัญหาหนึ่งครั้งก็จะกระทบวงกว้างได้ และการที่ไทยยังไม่มีการพัฒนาหรือปลูกข้าวพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น ข้าวนุ่ม เหมือนกับเวียดนาม ทำให้ค่าเฉลี่ยข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนามที่ขายได้ตันละ 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ไทยขายได้เฉลี่ย 500 เหรียญสหรัฐ จึงเป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไข หากปล่อยไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ไทยจะส่งออกข้าวลดลงและแข็งขันได้ยากขึ้น

“จีนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตาในปีหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเวลาจีนพลิกตัวทำอะไรต้องระวัง รวมทั้งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยไม่มีการพัฒนา แต่เวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาให้มีความหลากหลาย ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อในราคาต่างๆ มากขึ้น และยังมีต้นทุนในการส่งออกข้าวถูกว่าไทย ส่วนราคาสูงนั้น จากปัญหาปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยในตลาดที่มีจำกัด และมาตรการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลในการชะลอข้าวไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และถือเป็นปีทองของชาวนาไทย ผลสำรวจพบว่า ผลผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคอีสานฤดูกาลผลิต 2560/61 ลดลง 20% เนื่องจากเจอปัญหาน้ำท่วมและฝนตกชุก พอมาปีนี้ก็คาดว่าผลผลิตจะลดน้อยลงกว่าปีก่อนอีก ทำให้เกิดการแย่งซื้อข้าวและราคาดีดรวดเร็ว”ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว่า สาเหตุที่ปีหน้าสมาคมฯ ประเมินส่งออกเหลือ 10 ล้านตัน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของโลก เพราะปีนี้ประเทศนำเข้าหลัก ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้นำเข้าเป็นปริมาณสูงมาก ซึ่งสองประเทศรวมกันเกือบ 1 ล้านตัน รวมถึงจีนที่มีสต๊อกข้าวมากถึง 113 ล้านตัน เริ่มระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะการตีตลาดข้าวไทยในแอฟริกา สามารถนำข้าวเก่าเหล่านี้มาทำเป็นข้าวนึ่งและส่งขายในราคา 325 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งต่ำกว่าไทยที่ขายอยู่ 329 เหรียญสหรัฐ รวมถึงราคาต้นทุนข้าวไทยแพงสุดทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อแหล่งใหม่แทน และไทยขาดการพัฒนาข้าวที่กำลังนิยม เช่น ข้าวพื้นนิ่ม ที่เวียดนามครองตลาดส่วนนี้

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มราคาข้าวถุงในประเทศ ว่า แม้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปีนี้สูงขึ้น 40% แต่ในส่วนของข้าวสารเทียบเดือนนี้กับเดือนก่อนหน้านี้สูงขึ้น 5-10% และแนวโน้มราคาข้าวจะอ่อนตัวลง ระยะสั้นข้าวถุงไม่มีการปรับราคาแน่ ประกอบกับการแข่งขันในตลาดสูงมาก มีทั้งเกิดยี่ห้อใหม่จากโรงสีหรือผู้ส่งออกผลิตข้าวออกมาขายในประเทศ และห้างค้าปลีกผลิตข้าวยี่ห้อตัวเองมากขึ้น คนไทยบริโภคข้าวลดลงเหลือต่ำกว่า 95 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในกรุงเทพฯ เหลือ 40 กิโลกรัมเท่านั้น เป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวถุงไม่สามารถขยับราคาได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน