แบงก์ชาติ มึนเศรษฐกิจไตรมาส 3 วูบเกินคาด ชี้ปัจจัยที่อ่อนแรงมาก มาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่องอีกระยะ โดยเฉพาะสงครามการค้า

เศรษฐกิจวูบเกินคาด – นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาส 3/2561 ที่ขยายตัว 3.3% ต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าหากพิจารณาองค์ประกอบการขยายตัว จะพบว่าเป็นไปตามคาด คือ การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมทั้งตัวเลขนำเข้าที่เติบโตดี สะท้อนให้เห็นการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการผลิตในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อ่อนแรงมาก มาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกจะต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่องอีกระยะ โดยเฉพาะสงครามการค้า ที่เริ่มมีผลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ผลกระทบใหญ่ ซึ่งการส่งออกในเดือนก.ย. มีปัจจัยเข้ามากระทบชั่วคราว จากภัยธรรมชาติ กระทบตลาดส่งออกญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะต้องติดตามผลต่อเนื่องไปอีกระยะ นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐ ในโครงการลงทุนหลายๆ โครงการไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งถ้าเร่งขึ้นมาได้ก็จะส่งผลในระยะต่อไป

นอกจากนี้ นายวิรไท เปิดเผยในการแถลงการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ว่า ธปท.อยู่ระหว่างปฏิรูปกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว สะดวกมากขึ้น และให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี คาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุน 1,100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนให้มีต้นทุนทางการเงิน เช่น ค่าธรรมเนียม ที่ลดลงไปด้วย โดยทั้งหมดจะทยอยมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมี.ค. 2562

สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์มี 4 ด้าน คือ 1. ด้านไอที เช่น สถาบันการเงินไม่ต้องขออนุญาตธปท.ในเรื่องนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ แต่สถาบันการเงินต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินทดสอบนวัตกรรมใหม่ได้ด้วยตนเอง (โอน แซนด์บ็อกซ์) และทดสอบในบีโอที แซนด์บ็อกซ์ เฉพาะกรณีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานกลางที่ทดสอบร่วมกัน หรือกฎหมาย โดยให้รายงานแผนประจำปีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ แจ้งธปท. ก่อนเริ่มใช้งานจริง 15 วัน

2. ด้านทำธุรกิจดิจิทัล แบงก์กิ้ง ผ่อนปรนข้อจำกัด เช่น สนับสนุนให้สถาบันการเงินใช้เทคโนโลยีผ่านข้อมูลทางชีวภาพ (ไบโอเมตทริก) มารู้จักลูกค้า (อี-เควายซี) โดยไม่ต้องขออนุญาต ลดความซ้ำซ้อนให้สถาบันการเงินที่ให้บริการ อี-มันนี่ ภายใต้พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน ซึ่งอี-เควายซีจะทำให้ลูกค้าสะดวกไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร ก็สามารถเปิดบัญชีได้ แต่ต้องมีมาตรฐานที่รัดกุม ปลอดภัยในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินทดสอบไบโอเมตทริกในแซนด์บ็อกซ์ 9-10 รายจากทั้งหมดในแซนด์บ็อกซ์ 20 ราย

3. ส่งเสริมบริการทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาเพิ่มทางเลือกและลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอี โดยจากเดิมสถาบันการเงินใช้หลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อเดียวกับสินเชื่อบุคคล ซึ่งพิจารณาจากความสามารถชำระหนี้ รายได้ในบัญชีเงินฝากไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำกัดวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เปลี่ยนเป็นไม่จำกัดวงเงินตามจำนวนเท่าของรายได้เอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาขอกู้ไปทำธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันได้มีข้อมูลอื่นในโลกดิจิทัล มาวิเคราะห์ความสามารถชำระหนี้ เช่น ข้อมูลเครดิต ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้เอ็นซีบี สกอริ่ง ของตัวเองในการขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โดยบริษัท เครดิตบูโร จะไม่คิดค่าธรรมเนียมตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. 2562 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่เอสเอ็มอี

ส่วนด้านที่ 4 ลดใช้เอกสาร เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีของสถาบันการเงิน เช่น เอกสารที่ติดต่อลูกค้า ประกาศอัตราดอกเบี้ย เอกสารที่ใช้ขอสินเชื่อ แสดงฐานะการดำเนินงาน เป็นต้น และปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตในรูปแบบรวมศูนย์ (วัน สต็อบ เซอร์วิส) โดยสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบอี-แอพพลิเคชั่น เพียงครั้งเดียว จากเดิมต้องส่งหลายฝ่ายงานในธปท.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน