ยอดจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทช่วง 10 เดือน พุ่งขึ้น ตามแผนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าการจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือน ต.ค.2561 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 6,197 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2561 จำนวน 6,313 ราย ลดลงจำนวน 116 ราย คิดเป็น 2% และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2560 จำนวน 6,003 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 194 ราย คิดเป็น3%

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 573 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 383 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 201 ราย คิดเป็น 3% มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 19,962 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. 2561 จำนวน 48,027 ล้านบาท ลดลงจำนวน 28,065 ล้านบาท คิดเป็น 58% และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2560 จำนวน 39,723 ล้านบาท ลดลงจำนวน 19,761 ล้านบาท คิดเป็น 50%

สำหรับบริษัทจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 6,066 ราย คิดเป็น 97.89% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 113 ราย คิดเป็น 1.82% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 18 ราย คิดเป็น 0.29% โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ มีมูลค่าทุน 1,740 ล้านบาท

จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,166 ราย เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2561 จำนวน 1,899 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 267 ราย คิดเป็น 14% และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2560 จำนวน 1,797 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 369 ราย คิดเป็น 21%

ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 181 ราย คิดเป็น 8 %รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 110 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 50 ราย คิดเป็น 2% มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบ มีจำนวนทั้งสิ้น 10,088 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. 2561 จำนวน 6,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3,533 ล้านบาท คิดเป็น 54% และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2560 จำนวน 10,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 58 ล้านบาท คิดเป็น 1%

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 2,064 ราย คิดเป็น 95.29 % รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 94 ราย คิดเป็น 4.34% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็น 0.37%

นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 62,468 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 853 ราย คิดเป็น 1.38% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค.60) จำนวน 61,615 ราย การเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในพื้นที่ที่ระดับ 7-8 % ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวสูงสุด อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดปี 2561 ยังอยู่ในกรอบของการขยายตัว

เนื่องจากปัจจัยมูลค่าการส่งออก และมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินไว้ที่ 1.5% รวมทั้งมาตรการจากภาครัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งเมืองรองและชุมชน เพื่อสนับสนุนธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร และ ที่พักโรงแรมในส่วนภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 นี้ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล รวมไปถึงมาตรการในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการเข้ามาของชาวต่างประเทศต่างๆ ได้แก่ การยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2561 – ม.ค. 2562 ครอบคลุม 21 ประเทศ เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่

และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือสมาร์ทวีซ่าสำหรับบุคคลเข้ามาพำนักในประเทศไทยชั่วคราวสำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง กลุ่มนักลงทุน กิจการร่วมลงทุน และกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนในการช่วยผลักดันให้มีการประกอบธุรกิจ และการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน