นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบรายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ย.61 ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 อยู่ที่ 6.78 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 41.70 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอยู่ในกรอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน การคลังของรัฐ จะเรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดของปีงบประมาณ 2562 ให้ชัดเจนต่อไป

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 41.70% ซึ่งอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงนำไปลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และให้กู้ต่อสำหรับการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ส่วนสถานะหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ แยกเป็น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ คือปตท.สผ.และปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ มีเงินกู้คงค้าง 100,941.27 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นของปตท.สผ.

ส่วนรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน มีเงินกู้คงค้าง 535,734.97 ล้านบาท ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. มีหนี้เงินกู้คงค้าง 31,198.17 ล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนี้เงินกู้คงค้าง 4,490 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวกระทรวงการคลังชี้แจงว่า ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้สาธารณะว่าในภาพรวมหนี้สาธารณะเป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงที่ 73.08% เมื่อวิเคราะห์ภาระหนี้รวมกับแผนการกู้เงินและการชำระหนี้ในอนาคตพบว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และกระทรวงการคลังยังพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล โดยเห็นว่าภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาความเสี่ยงฐานะการคลังทั้งหมดแล้ว

โดยพิจารณาประกอบกับแผนการกู้เงินและการชำระหนี้ในอนาคตพบว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ภาระดอกเบี้ยที่อาจส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณในอนาคตได้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ในภาพรวมยังไม่พบความเสี่ยงแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน