รัฐดึง 5 ยักษ์ใหญ่นำร่องผุดศูนย์นวัตกรรม 500 ล้านบาท พร้อมให้บริการไตรมาสแรกปีหน้า

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการหารือเบื้องต้นกับภาคเอกชนไทยรายใหญ่ ถึงแนวทางความร่วมมือจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม หรืออินโนสเปซ ไทยแลนด์ (InnoSpace Thailand) ในรูปแบบบริษัทร่วมทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือ สตาร์ทอัพ ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โดยจะนำร่องสาขาการเกษตรที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย ทุนประเดิมเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์สามารถให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

“ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีพลังจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ช่วยส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยแบบครบวงจร โดยการเชิญชวนและสรรหาผู้ประกอบการเทคโนโลยีนวัตกรรมมูลค่าสูงเข้ามาร่วมลงทุน โดยจะตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนินการ เพราะรัฐบาลเองจะไม่คล่องตัวและติดกฎหมายการลงทุนเองไม่ได้ ซึ่งรูปแบบนี้หลายประเทศทั่วโลกทำ”นายอุตตม กล่าว

เบื้องต้นเอกชนรายใหญ่ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำกัด บมจ. เอสซีจี บมจ. ปตท. บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในส่วนของรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพร้อมเปิดกว้างให้หน่วยงานเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ยังประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพจากต่างประเทศ อย่างฮ่องกง ไซเบอร์พอต และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ตอัพ ประเทศอิสราเอล เพื่อขยายและเชื่อมต่อมายังศูนย์นวัตกรรมของไทย ซึ่งความร่วมมือทั้งหมดจะมุ่งใน 3 รูปแบบ คือ พันธมิตรด้านการบ่มเพาะ พันธมิตรด้านองค์ความรู้ และพันธมิตรด้านการลงทุน

สำหรับสถานที่ตั้งโครงการจะอยู่ในพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ ของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง และจะมีเครือข่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) กล้วยน้ำไท และ ศูนย์ไอทีซี จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และหลังจากนี้ จะเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังจะยกระดับสินค้าภาคเกษตรไทยเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า สวทช.กำลังหารือในรายละเอียดถึงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจะมีภาคเอกชนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก สวทช.จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 5-10% ขณะเดียวกันจะจัดตั้งบริษัท นาสด้า โฮลดิ้ง โดย สวทช. จะถือหุ้น 50% และศูนย์นวัตกรรมถือหุ้น 50% เพื่อการดำเนินงานในรูปแบบเอกชน คาดจะใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท
ทั้งยังมีแนวคิดดึงนักวิจัยของสวทช.มาร่วมนำงานวิจัยต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพด้วย แต่ยังคงสามารถทำงานที่สวทช.เช่นเดิมได้ ซึ่งรายละเอียดจะมีการนำเสนอบอร์ดเห็นชอบอีกครั้ง คาดว่าจะสร้างสตาร์ทอัพประมาณ 100-200 รายต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน