จับตาภาคเกษตรไทยปี62 ข้าวไปได้สวย-‘ยาง’ยังต้องลุ้น

จับตาภาคเกษตรไทยปี62

จับตาภาคเกษตรไทยปี62 ข้าวไปได้สวย-‘ยาง’ยังต้องลุ้น – “ภาคเกษตร” อำลาปี 2561 ด้วยอาการสะบักสะบอม ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง แต่ภาครัฐยังคงเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตร ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น การขับเคลื่อนของภาครัฐ ภายใต้การกุมบังเหียนของ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ปี 2561 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร มีการขยายตัว 4.6% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาพืช ขยายตัว 5.4% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% สาขาประมงขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.0% สาขาบริการด้านการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.0% และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับปี 2560

ผลผลิตด้านการเกษตรหลายตัวดีขึ้น อาทิ ผลผลิตข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และ เงาะ โดย ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา

สินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญทุกชนิดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคเนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ

สาขาประมงสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืดหลัก อาทิ ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นผลมาจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเลี้ยงเกษตรกรสามารถขยายเนื้อที่เลี้ยง เพิ่มรอบการเลี้ยง และเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์เพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ไม้ยางพารา ครั่ง ถ่านไม้ และรังนกนางแอ่น ขยายตัวดีขึ้น

กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมการเพาะปลูก ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายสินค้า ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง อาทิ ยางพารา อ้อย สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ยาสูบ เป็นต้น ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดงบประมาณมากกว่าแสนล้าน เพื่อแจกเกษตรกร ทั้งแบบให้เปล่าและเป็นเงินกู้ชะลอการขายข้าว

ทั้งหมดคือสิ่งที่รัฐบาลทหาร ระบุว่า เป็นความพยายามเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่หากฟังให้เข้าท่าน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะสกัดม็อบเกษตรกร ก่อนการเลือกตั้งได้

ส่วนสาขาที่น่าสนใจและมีการขยายตัวดี เช่น สาขาบริการด้านการเกษตร มีการขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบปี 2560 เป็นผลจากการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

ส่วนอ้อยโรงงานใช้บริการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่ทดแทนของเดิม และขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต ทั้งในด้านการเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวสาขาป่าไม้

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2562 คาดขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0-4.0% จากปี 2561 โดยสาขาพืช คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.2-4.2%

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.3-2.3% สาขาประมง คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 1.0-2.0% สาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.2-2.2% และ สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.0-3.0%

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปี 2562 ต้องจับตาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรหลักๆ อาทิ ข้าว และยางพารา

หากดูจากราคาในตลาดล่วงหน้า พบว่าทั้งราคาข้าว และราคายางพาราปรับตัวลดลง โดยราคาข้าวส่งมอบในปี 2562 ปรับตัวลดลงประมาณ 1-2% ส่วนราคายางพาราลดลงจากปีนี้ประมาณ 5% ซึ่งถือเป็นราคาที่ลดลงต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมของจีดีพีภาคเกษตร หากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นสามารถขายได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรก็ไม่น่ามีผลต่อจีดีพีประเทศมาก

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ปี 2561 ผลผลิตมันสำปะหลังอยู่ที่ 28.5 ล้านตัน ราคามันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แต่จากการสำรวจประเมินว่า ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562 จะออกมาประมาณ 29 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าปีมาตรฐานที่มีปริมาณ 30 ล้านตัน

ส่วนราคาคาดว่าจะเฉลี่ยอยูที่ 2.60 บาท/ก.ก. เพราะตลาดมันเส้นของจีนรับซื้อน้อยลง เนื่องจากมีสินค้าทดแทนที่จีนสามารถปลูกได้มากขึ้นและราคาถูกกว่าการใช้มันสำปะหลังผลิตแอลกอฮอล์ คือ ‘ข้าวโพด’

โดยราคาข้าวโพดในจีนถูกกว่าการนำเข้ามันสำปะหลังประมาณ 1,000 หยวน/ตัน หรือเกือบ 6,000 บาท/ตัน ประกอบกับค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงมากทำให้เมื่อซื้อสินค้าไทย ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น

ด้าน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ปี 2561 ปริมาณการส่งออกไก่ 10 เดือนมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-12% ทั้งปีคาดว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 8.9 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 12% จาก ปีก่อนหน้า

ส่วนราคาในช่วง 9 เดือนแรกของปี ดีมาตลอด และราคาเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เพราะค่าเงินของคู่แข่งสำคัญอย่างบราซิลอ่อนค่าลงประมาณ 20-30% ส่งผลให้ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดหลักของไก่ไทย หันไปซื้อที่บราซิลแทน

ส่วนปี 2562 คาดว่าสถานการณ์ราคาไก่และปริมาณน่าจะทรงตัวไม่ต่างจากปี 2561 ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง คือเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ข้าวโพด ที่คาดว่าจะราคาสูงขึ้น และคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนตัวมาก

ในตลาดจีนยังถือว่ามีโอกาสเพราะจีนชอบกินไก่ไทยมากขึ้น แต่การตรวจรับรองโรงงานส่งออกไก่ยังมีเพียง 6-7 โรงงานจึงเป็นข้อจำกัดอีกข้อของการส่งออกไก่

นายพายัพ ยังปักษี นายกสมาคมชาวนาและโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวไทยในปี 2561 ถือว่าอยู่ในระดับราคาที่สูงพอสมควร ข้าวพรีเมียมโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ปรับตัวขึ้นสูงทะลุ 18,000 บาท/ตัน เกิดจากผลผลิตที่ลดลงและชาวนาไทยผลิตข้าวคุณภาพดีขึ้น และยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีประมาณ 70% ของราคาขาย ทำให้ชาวนาในปี 2561 พออยู่ได้ นอกจากนี้ชาวนายังรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มแปรรูปเองได้ ขายเองได้ ซึ่งเกิดจากความเชี่ยวชาญของชาวนาเอง

ส่วนปี 2562 คาดว่าทั้งเรื่องของผลผลิตและราคา จะดีไม่ต่างจากปีก่อนหน้า เพราะเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาเริ่มปรับตัว ทั้งเรื่องของการลดต้นทุน ทำปุ๋ยใช้เอง รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกข้าวของภาครัฐ และส่งเสริมการเพราะปลูกข้าวพรีเมียมมากขึ้น

ในปี 2562 น่าจะเป็นอีกปีที่ชาวนาสดใส

ขณะที่ นายหลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด กล่าวว่า ความหวังเดียวของชาวสวนยางพารา คือการที่รัฐบาลเดินทางผลักดันการใช้ยางในประเทศ ไม่ต้องรอตลาดล่วงหน้า เพราะไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ หากเร่งดำเนินโครงการสร้างถนนภายใต้โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร (ก.ม.) จะทำให้ปริมาณยางส่วนเกินหายไป ราคายางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด

การใช้ยางในประเทศถือเป็นทางรอดเดียวของชาวสวน ที่ขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่ประมาณ 3 ก.ก. 100 บาท ถือว่าต่ำมากกว่าต้นทุน

ส่วน สศก. ระบุว่า ลุ้นเศรษฐกิจโลกหากปรับตัวดีขึ้นจะทำให้การส่งออกพืชและผลิตภัณฑ์ในปี 2562 ดีขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ และมังคุด เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

โจทย์ใหญ่ของเกษตรกรในปี 2562 คือผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน