รายงานพิเศษ : ผ่าแผนลงทุนคมนาคม’62 41โปรเจ็กต์ยักษ์-1.77ล้านล้าน

รายงานพิเศษ : ช่วงปลายปี 2561 รัฐบาล คสช.โดยกระทรวงคมนาคม สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2558 พ.ศ.2559 พ.ศ.2560 และ พ.ศ.2561 พิจารณาโครงการสำคัญที่มีความเหมาะสม สามารถผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2562 เร่งขับเคลื่อน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะต่อไป

คมนาคมคัดเลือกจากโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ที่มีผลประโยชน์เชิงโลจิสติกส์ หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ.2562 แล้ว

โครงการที่มีผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study : FS) รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) หรือมีการออกแบบรายละเอียด

โครงการเดิมที่บรรจุในแผนปฏิบัติการฯ ระยะเร่งด่วนปีก่อนๆ ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย และโครงการที่มีประโยชน์และได้รับความคาดหวังสูงจากประชาชน

โดยช่วงปลายปีก่อนที่รัฐบาล คสช.จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งในปี 2562 กระทรวงคมนาคมออกมาประกาศเปิดแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2562 (แอ๊กชั่นแพลน) ที่รัฐบาล คสช. จะใช้เป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

มีโครงการที่ต้องเร่งผลักดัน จำนวน 41 โครงการสำคัญ กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,778,213.38 ล้านบาท

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือโครงการใหม่ที่ริเริ่มในปี พ.ศ.2562 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงินลงทุน 58,229.88 ล้านบาท

และโครงการเก่าจากแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ.2558 พ.ศ.2559 พ.ศ.2560 และ พ.ศ.2561 ที่ต้องสานต่อให้จบ จำนวน 29 โครงการ กรอบวงเงินลงทุน 1,719,983.50 ล้านบาท

แหล่งเงินทุนที่นำมาใช้ดำเนินโครงการจะนำมาจาก 7 แหล่งสำคัญ 1.เงินกู้ยืมวงเงิน 1,200,356.79 ล้านบาท คิดเป็น 67.504% 2.เงินงบประมาณ วงเงิน 185,339.12 ล้านบาท คิดเป็น 10.423% 3.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) วงเงิน 201,256.73 ล้านบาท คิดเป็น 11.318%

4.รายได้ของหน่วยงาน วงเงิน 106,901.91 ล้านบาท คิดเป็น 6.012% 5.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) วงเงิน 30,437 ล้านบาท คิดเป็น 1.712% 6.เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางวงเงิน 40 ล้านบาท คิดเป็น 0.002% และ 7.รอผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อพิจารณาแหล่งเงิน (N/A) วงเงิน 53,881.83 ล้านบาท คิดเป็น 3.030%

สำหรับ 12 โครงการใหม่ที่จะเร่งรัดในปี 2562 นั้น สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มโครงการศึกษาความเป็นไปได้ คือโครงการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Southern Riviera) ช่วงชุมพร-สงขลา เพื่อรองรับและสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Southern Riviera) ช่วงชุมพร-สงขลา และกระจายรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในท้องถิ่น

2.กลุ่มโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชน ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 วงเงินลงทุน 55,040.38 ล้านบาท ได้แก่ โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด วงเงินลงทุน 620 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวก (Facilities) และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้กับประชาชนผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ให้เป็นมาตรฐานสากล

โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 1,486 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวก (Facilities) และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ให้กับประชาชนผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เป็นมาตรฐานสากล

โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 1,579.88 ล้านบาท, โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา 1,504 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 35,377.19 ล้านบาท เพื่อขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 60 ล้านคนต่อปี เป็น 90 ล้านคนต่อปี

และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 14,473.31 ล้านบาท เพื่อขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี

3.กลุ่มประกวดราคาแล้วเสร็จ/ประกาศคัดเลือกเอกชน/ เริ่มก่อสร้างได้/พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 วงเงินลงทุน 3,180 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 80 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยว ที่ปริมาณเพิ่มมากขึ้นได้

โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือท่าช้าง กรุงเทพมหานคร 60 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือท่าเตียน กรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 40 ล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงินลงทุน 1,800 ล้านบาท เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,600 คนต่อชั่วโมง หรือ 4 ล้านคนต่อปี

และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,200 คนต่อชั่วโมง หรือ 3.40 ล้านคนต่อปี

ส่วนโครงการเก่าที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องอีก 29 โครงการ กรอบวงเงินลงทุน 1,719,983.50 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุน 79,071.81 ล้านบาท

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย วงเงินลงทุน 37,470 ล้านบาท

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงินลงทุน 29,269.97 ล้านบาท

4.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินลงทุน 32,285 ล้านบาท

5.โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุน 14,177.22 ล้านบาท

6.โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงินลงทุน 526,028.67 ล้านบาท

7.โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงินลงทุน 210,862.87 ล้านบาท

8.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงินลงทุน 37,523.61 ล้านบาท

9.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงินลงทุน 26,654.36 ล้านบาท

10.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุน 24,287.36 ล้านบาท

11.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา วงเงินลงทุน 57,369.43 ล้านบาท

12.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงินลงทุน 6,657.37 ล้านบาท

13.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงินลงทุน 62,848.74 ล้านบาท

14.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงินลงทุน 56,826.78 ล้านบาท

15.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม วงเงินลงทุน 67,965.33 ล้านบาท

16.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุน 30,155 ล้านบาท

17.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 37,590.25 ล้านบาท

18.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงินลงทุน 1,154.50 ล้านบาท

19.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 31,244 ล้านบาท

20.โครงการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 35 คัน พร้อมสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 1 แห่ง วงเงินลงทุน 466.94 ล้านบาท

21.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท

22.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงินลงทุน 6,570 ล้านบาท

23.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระรามหก สถานีบางกรวย- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) วงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท

24.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 7,469.43 ล้านบาท

25.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมากและสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง วงเงินลงทุน 44,144.32 ล้านบาท

26.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 122,996.04 ล้านบาท

27.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 วงเงินลงทุน 49,630.75 ล้านบาท

28.โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 19,422.17 ล้านบาท

และ 29.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MaintenanceRepair and Overhaul : MRO) วงเงินลงทุน 4,294 ล้านบาท

บิ๊กโปรเจ็กต์ 1.77 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลคสช.ทิ้งทวนอนุมัติกรอบเงินลงทุนมหาศาลไว้ก่อนที่จะเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอลุ้นกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน