นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ว่า ได้ติดตามความคืบหน้า แบบก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร เส้นทางกลางดง-ปางอโศกซึ่งเป็นการก่อสร้างช่วงแรก และการจัดร่างสัญญา 3 ฉบับ กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเร่งรัดเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้ พบว่าแบบก่อสร้าง 3.5 ก.ม. ยังติดปัญหาเรื่องการถอดแบบมาตรฐานจากจีนมาเป็นมาตรฐานไทยหรือมาตรฐานสากล เพราะจีนไม่สามารถคำนวณถอดแบบเองได้ ทำให้จีนต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยทำการถอดแบบแทน ขณะที่ร่างสัญญายังจัดทำไม่แล้วเสร็จขาดรายละเอียดอีกมาก โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด แต่จะต้องให้เสร็จก่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน รอบต่อไปครั้งที่ 17 เพราะต้องเร่งรัดให้มีการเริ่มการก่อสร้างให้ทันตามเป้าหมายเดินในเดือน มี.ค.

รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า อุปสรรคส่วนใหญ่ของโครงการรถไฟไทย-จีน ได้รับการแก้ไขไปหมดแล้ว ยกเว้น 2 ประเด็นคือ 1. จีนไม่สามารถจัดทำเอกสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายไทย เช่น เรื่องบุคลากร ประเด็นจะส่งผลให้กระทรวงการคลังไม่สามารถอนุมัติวงเงินมาใช้ในโครงการได้ และ 2. ฝ่ายจีนไม่สามารถแปลงมาตรฐานก่อสร้างจีนเป็นมาตรฐานไทยหรือสากล ทำให้ผู้รับเหมาชาวไทยไม่สามารถใช้รหัสดังกล่าวในก่อสร้างได้

รายงานข่าวระบุว่า จีนได้ส่งแบบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางกลางดง-ปางอโศก ให้ฝ่ายไทยตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว จากนั้นมีการปรับแบบเล็กน้อยและแล้วเสร็จ 2-3 เดือนหลังจากนั้น ขณะเดียวกันฝ่ายจีนได้ส่งแบบตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กิโลเมตร เส้นทางปากช่อง-คลองขนานจิตร์ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยขณะนี้ถือว่าการออกแบก่อสร้างคืบหน้ามากกว่า 90% และ รฟท. ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบแบบก่อสร้างของจีนแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 10% คือปัญหาในการแปลงรหัสก่อสร้างเป็นมาตรฐานไทยเท่านั้น

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯรฟท. กล่าวว่า ฝ่ายจีนต้องรับผิดชอบจัดหาผู้เชี่ยวชาญไทยมาถอดแบบก่อสร้างเอง คาดว่าจะใช้เวลาไม่มาก โดย รฟท.จะยังคงเป้าหมายเวลาเริ่มตอกเสาเข็มตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาล คือในเดือนมี.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่ฝ่ายจีนมีปัญหาถอดแบบก่อสร้าง โดยจะต้องรอให้ฝ่ายเลขาที่ประชุมรายงานมาก่อน และขอดูรายละเอียดก่อน ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบกับแผนตอกเสาเข็มในเดือน มี.ค. นี้หรือไม่ ส่วนการกำหนดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทยจีน ครั้งที่ 17 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน นั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องวันที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน