พาณิชย์ปลื้ม! ปิดจ๊อบระบายข้าวปี 61 เกลี้ยงสต็อก ลั่นเรียกความเชื่อมั่น เน้นข้าวไทยเกรดพรีเมี่ยม พร้อมลุยขยายตลาดส่งออกข้าวไทย ปี 62

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ( คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค. 57 – ธ.ค. 61 กรมฯ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐและเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่ผ่านการตรวจนับปริมาณและมีผลการตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพแล้ว รวมทั้งสิ้น 16.84 ล้านตัน มูลค่ารวม 145,080 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวไว้ในสต็อกเดือนละกว่าพันล้านบาท

ซึ่งได้ส่งผลดีทำให้กำจัดอุปทานส่วนเกินที่เคยกดทับตลาดและราคาข้าวไทยได้หมดไป จึงส่งผลโดยตรงทำให้ระบบการผลิต การค้า และราคาข้าวของไทยกลับสู่ภาวะปกติตามกลไกตลาด เรียกคืนความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และยุติการนำข้ออ้างเรื่องสต็อกข้าวของรัฐไปกดราคาข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่เกษตรกรควรจะได้รับได้อย่างแท้จริง

“ผลจากการระบายสต๊อกออกไปจนหมด ทำให้ปี 2561 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย มีปริมาณรวม 11.13 ล้านตัน มูลค่ารวม 5,623 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 180,413 ล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ส่งผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2562 ในเบื้องต้นคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงจากปี2561 เล็กน้อย แต่จะผลักดันให้มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวคุณภาพดี และข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด และกรมฯ เองก็มุ่งส่งเสริมการส่งออกข้าวคุณภาพสูง (Premium Rice) และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวไทย โดยแม้ปริมาณลด มูลค่าไม่ได้ลดตาม แต่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดข้าวและเกษตรกรไทย

ส่วนที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ลดลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น กรมฯ เห็นว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่ง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวไทยยังคงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อได้

ประกอบกับราคาข้าวของประเทศคู่แข่งอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาข้าวไทย แต่ยังมีปัจจัยบวก คือ ความต้องการบริโภคข้าวของโลกยังมีต่อเนื่อง จากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและข้าวยังคงเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับหลายๆ ประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ผู้นำเข้าข้าวยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย รวมทั้งราคาข้าวไทยยังสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งกรมฯ ยังคงติดตามสถานการณ์และประเมินสถานการณ์ข้าวทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินเป้าการส่งออกข้าวในปี 2562 อีกครั้ง

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2562 กรมฯ มีแผนขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งบุกตลาดประเทศผู้นำเข้าสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงค์โปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา เพื่อขยายโอกาสการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก

รวมทั้งจะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญในประเทศ ได้แก่ งานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2019 ซึ่งเป็นเวทีระดับสากลให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าข้าวจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง วิสัยทัศน์ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการค้าข้าวของโลก และเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งออกข้าวของไทยและผู้นำเข้าข้าวจากประเทศคู่ค้าสำคัญ

นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันและขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวไทย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญในปี 2562 เช่น การสร้างความตระหนักรู้ในสินค้าเกษตรนวัตกรรม การจัดประกวดรางวัล Agri Plus Award 2019 การสร้างเครือข่ายด้านสินค้าเกษตรนวัตกรรมระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานบันการศึกษา การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และขยายไปถึงการเพิ่มช่องทาง การจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วที่จีนภายใต้ชื่อกิจกรรม APi goes China

ส่วนการอำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าว กรมฯ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าทุกชนิดแบบคู่ขนานภายในเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าได้ทั้งที่กรมฯ และที่สภาหอฯ โดยสินค้าที่จะขอใบรับรองได้ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวฟ่าง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาป่น ข้าวหอมมะลิไทย ปุยนุ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ตรวจสอบคุณภาพ ณ สถานที่จัดเก็บสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของผู้ส่งออก
ซึ่งกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจเพื่อกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวเยอร์ที่สังกัดบริษัทเซอร์เวย์) ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อผลการตรวจสอบถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด จึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป

และยังจะเพิ่มการสุ่มตรวจตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ได้แก่ 1. การสุ่มตรวจข้าวหอมมะลิไทยก่อนส่งออกจากโรงสีและผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ 2. การสุ่มซื้อตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยที่บรรจุภัณฑ์ประทับตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูแลคุณภาพและมาตรฐาน และทำให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวชั้นดีเลิศที่สุดของโลกต่อไป

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบข้าวแบบ G to G กรมฯ อยู่ระหว่างส่งมอบข้าวงวดที่ 7 ปริมาณ 100,000 ตัน ให้ COFCO Corporation (COFCO) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2562 และได้เสนอให้ COFCO พิจารณาเจรจาราคาขายข้าวในงวดที่ 8 ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งหากเจรจาตกลงราคาได้จะถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับชาวนาและตลาดข้าวไทย
เนื่องจากมีคำสั่งซื้อปริมาณมากมารองรับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาด โดยผู้ส่งออกข้าวจะต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อส่งมอบภายใต้สัญญาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและส่งผลดีต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบ ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งเจรจาให้รัฐบาลจีนตกลงราคาและนำเข้าข้าวที่เหลือให้ครบปริมาณ 1 ล้านตันตามสัญญาแบบ G to G ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน