แบงก์ไทยพาณิชย์ ปรับลดจีดีพีปี’62 เหลือ 3.8% เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ตามภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลง และสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น

ไทยพาณิชย์ ปรับลดจีดีพีปี’62 – นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) หรือ อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวที่ 3.8% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์จะขยายตัว 4% และชะลอตัวจากปี 2561 ที่ทั้งปีจะเติบโต 4.2% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ตามภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยชะลอลงในปี 2562 นี้ คาดว่าการส่งออกไทยจะเติบโต 3.4% จากเดิมประเมินไว้ 7%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีมาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า นอกจากนี้ อีไอซีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 5.7% โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 2 และกลับมามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนจะเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอัตราการว่างงานที่ต่ำ การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มองว่าหากมีกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม จะทำให้เกิดการยอมรับและมีความราบรื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย เพราะจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา และการดำเนินนโยบายที่จะต่อเนื่องมากขึ้น

“ในปี 2562 จะมีความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเรื่อง สงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าที่คาด และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ขณะที่ความท้าทายภายในประเทศที่สำคัญ คือ แนวโน้มการใช้จ่ายที่กระจุกตัวจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวช้า และความไม่แน่นอนของกระบวนการและผลของการเลือกตั้งที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า”

ขณะเดียวกันแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่ามีแนวโน้มแข็งค่าในกรอบการเคลื่อนไหว 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และนักลงทุนยังคงมองไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน ทำให้จะมีเงินทุนไหลเข้าหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลง คาดว่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งในปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน