ครม.ไฟเขียวปรับเงื่อนไขการกู้เงินไฮสปีดเทรน กทม.-หนองคาย วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท ให้กระทรวงการคลังพิจารณาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้ จากเดิมที่กำหนดให้กู้เฉพาะในประเทศ ชี้เงื่อนไขเงินกู้ในต่างประเทศดอกเบี้ยถูกกว่าในไทย ด้านเอ็กซิมแบงก์ของจีนเสนอดอกเบี้ย 2.3% ขณะที่คลังยังไม่สรุปว่าจะกู้จากแหล่งใดขอดูอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งอื่นเปรียบเทียบก่อน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่8ม.ค.2562ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 เกี่ยวกับการกู้เงินสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) วงเงินรวม 166,342.61 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) จากเดิมที่ ครม.ได้กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ในประเทศสำหรับดำเนินโครงการเปลี่ยนเป็นให้กระทรวงการคลังสามารถจัดหาเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของแหล่งเงินกู้โดยพิจารณาจากเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาการกู้เงินโดยไม่จำกัดเพียงแค่แหล่งเงินกู้ในประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและอยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการในสัญญาที่ 2.3 งานวางราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถและฝึกอบรมบุคคลากร วงเงิน 3.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้วางกรอบว่าจะมีการกู้เงินในประเทศ 15% และการกู้เงินต่างประเทศ 85%

โดยการกู้เงินในต่างประเทศกระทรวงการคลังได้รายงานว่าในปัจจุบันมีการข้อเสนอแหล่งกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อดำเนินโครงการมีเงื่อนไขที่น่าสนใจโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าเงินกู้ในประเทศ เช่นข้อเสนอของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน (CEXIM) ซึ่งเสนออัตราเงินกู้ระยะยาว 20 ปีที่ 2.3% ขณะที่อัตราเงินกู้ในประเทศระยะยาว 20 ปีอยู่ที่ 2.86% จึงทำให้การดำเนินโครงการมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังรายงานว่ายังไม่ได้ตัดสินใจในการเลือกแหล่งเงินกู้จากแหล่งใด เนื่องจากต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราแหล่งเงินกู้จากหน่วยงานและประเทศอื่นๆด้วย เช่น ธนาคารโลก (world bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รวมทั้งข้อเสนอจากแหล่งเงินกู้อื่นๆด้วยก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีการกู้เงินจากแหล่งใด ทั้งนี้ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมมากที่สุดได้ให้เสนอให้กับสำนักงบประมาณ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเสนอให้กับ ครม.รับทราบต่อไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้เงินที่กระทรวงการคลังต้องกู้เงินเพื่อให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกู้ต่อตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้สำนักงบประมาณให้ดำเนินงานตามระเบียบวิธี พ.ร.บ.งบประมาณ โดยหากเป็นการกู้เงินตราต่างประเทศให้นับรวมในวงเงินรวมต้องไม่เกิน 10%ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 ที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินในการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2560 ที่ผ่านมาประกอบไปด้วย 1.ค่ารื้อย้ายและเวนคืน 1.3 หมื่นล้านบาท 2.สัญญา 1 งานโยธา วงเงิน 1.17 แสนล้านบาท 3.สัญญา 2 ประกอบด้วยสัญญาการสำรวจและออกแบบงานโยธา สัญญาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา และสัญญางานวางราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถและฝึกบอรมบุคลากร รวม 4.4 หมื่นล้านบาท 4.ค่าบริหารจัดการการก่อสร้างของฝ่ายไทย 1,233.33 ล้านบาท และ5.ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Contingency) 3430.04 ล้านบาท รวมมูลค่ากรอบวงเงินลงทุนโครงการ 179,412.21 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน