บสย.ตั้งเป้าค้ำสินเชื่อปีนี้แสนล้าน ประเดิมเจาะกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ คนส่งอาหาร กว่า 1.5 แสนรายทั่วประเทศ เข้าโครงการ ให้ต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดึง ธพว.ร่วมปล่อยกู้ หนีเข้าลิสซิ่งคิดดอกเบี้ยสูง

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อในปี 2562 ไว้ที่ 1.07 แสนล้านบาท เน้นตั้งรับการทำงานของรัฐบาลยุคดิจิทัล และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน เตรียมเปิดตัวโครงการค้ำวินมอเตอร์ไซด์ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ,พนักงานส่งเอกสาร ,ไลน์แมนส่งอาหาร ให้สามารถกู้ขอสินเชื่อได้รายไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพื่อเอาไปซ่อม ปรับปรุงรถ ซื้อมวกกันน็อค

เบื้องต้นได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. ให้ปล่อยกู้แล้ว ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจาก โครงการฮัก TAXI เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย ที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อไม่ต้องไปกู้เงินจากลิสซิ่งที่คิดดอกเบี้ยสูง 36%

“ในกรุงเทพมีวินมอเตอร์ไซด์ 6,000 วิน คิดเป็นคนที่มีอาชีพขับวินฯ 1 แสนกว่าราย และในปริมณฑล 4 จังหวัด คาดว่ามีอีก 5 หมื่นราย รวมแล้ว 1.5 แสนราย ที่จะมีโอกาสได้เข้าถึงสินเชื่อ ซึ่ง บสย. พร้อมที่จะค้ำให้กับทุกธนาคารที่จะปล่อยกู้ให้ วินมอเตอร์ไซด์ ” นายรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี กลุ่มที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ และพวกที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ คนเคยล้มมาก่อนซึ่งมีอยู่ราว 1 แสนราย ได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อย ( ไมโครเอสเอ็มอี ) กลุ่มลูกค้า ค้า S-curve และสตาร์ทอัพ , กลุ่มผู้ประกอบการในโครงการสินเชื่อประชารัฐ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

สำหรับ เป้าหมายการทำงานของ บสย. ปี 2562 คือ ช่วยผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้น 8.26 หมื่นราย จากปีที่ผ่านมาช่วยได้กว่า 7.78 หมื่นราย รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนเรื่องการค้ำประกันตรง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากหลักประกันเดิมให้ได้ 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และตั้งเป้าจัดเก็บหนี้ให้ได้ 550 ล้านบาทหรือกว่า 3,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งเก็บหนี้ได้ 380 ล้านบาท หรือกว่า 2,000 ราย

รวมทั้งจะยกระดับการทำงานเพิ่มจากทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ จะพยายามเป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์ ช่วยคัดกรองลูกค้ารายที่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท เพื่อส่งให้สถาบันการเงินพิจารณา ช่วยลดการปฎิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกุล ประธานกรรมการ บสย. กล่าวถึง ผลดำเนินงานปี 2561 ที่ผ่านมาว่า มีการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวม 8.88 หมื่นล้านบาท คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินอนุมัติจากการค้ำประกันสินเชื่อ รวม 1.33 แสนล้านบาท หรือ 1.5 เท่า ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท หรือเทียบเท่า 3% ของอัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือ จีดีพ โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวม 7.78 หมื่นราย เทียบกับผลดำเนินงานในปี 2560 มีการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 8.66 หมื่นล้านบาท

สำหรับ ผลงานที่โดดเด่นของ บสย. ในปี 2561 คือการสร้างความร่วมมือในการค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินของรัฐ ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐสร้างการเติบโตให้กับเอสเอ็มอี และมีศักยภาพ ส่งผลให้มียอดค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14% หรือเท่ากับ 4.25 หมื่นล้านบาท เทียบกับยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อปี 2560 มีวงเงิน 3.73 หมื่นล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน