นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ปีนี้ กสอ. จะมุ่งผลักดันเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้าชั้นนำ รวมถึงส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศผ่าน 35 โครงการของกสอ. ภายใต้งบประมาณ 830 ล้านบาท

“เบื้องต้น ซีพี ออลล์ เตรียมลงทุนก่อสร้างตลาดต่อยอด (เออีซี เทรดดิ้ง เซ็นเตอร์) บนพื้นที่ 150 ไร่ บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา คาดจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ จากนั้นจะคัดเลือกเอสเอ็มอี 10,000 ราย ให้นำสินค้ามาวางจำหน่าย รวมถึงอยู่ระหว่างเจรจากับเทสโก้ โลตัส ให้นำสินค้าเอสเอ็มอีไปจำหน่าย ส่วนช่องทางออนไลน์ อยู่ระหว่างเจรจาประสานความร่วมมือกับอาลีบาบา เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซชื่อดังจากจีน”

นอกจากนี้ กสอ. ร่วมกับซีพี ออลล์ สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการ “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2559” 13 รางวัล ยกระดับเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายธานินทร์ บุรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันซีพี ออลล์ ส่งเสริมสินค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กว่า 1,000 ราย รวมสินค้ากว่า 20,000 รายการ ที่มีคุณภาพมาตรฐานจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ในนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตาล็อก และอีคอมเมิร์ชต่างๆ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ขายในเครือทั้งหมด

“ภาพรวมสินค้าเอสเอ็มอีที่จำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ในเครือซีพีมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และอาหารแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งเรามีนโยบายเพิ่มปริมาณจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายปีนี้สินค้าเอสเอ็มอีที่จำหน่ายผ่านเราจะเติบโตได้ 20% คิดเป็นยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท”

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในส่วนของ สสว. ปีนี้ได้รับการจัดสรรงบบูรณาการ 1,226 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2560 เพื่อบูรณาการเอสเอ็มอี 3,487 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มี 1,526 ล้านบาท) สำหรับบ่มเพาะเอสเอ็มอีรายใหม่ 149 ล้านบาท ส่งเสริมเอสเอ็มอีเดิมให้เติบโตและมีนวัตกรรม 584 ล้านบาท และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ 493 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีผ่านกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี 1,000 ล้านบาท และการเปิดตัวกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท ณ วันที่ 3 ก.พ. 2560 กองทุนได้อนุมัติเงินกู้แล้ว 177 ราย วงเงิน 153.63 ล้านบาท หรือรายละ 700,000-800,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน