สบพ. ผนึก แอร์บัส ผลิตบุคลากรด้านการบิน ตั้งเป้าปี’64 ปั้นช่างซ่อมบำรุงเพิ่ม 3 เท่า รองรับกับอุตสาหกรรมการบินของไทยที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตได้

เร่งผลิตนักบิน-ช่างซ่อมบำรุง – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ระหว่างสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กับ 4 บริษัทผู้ผลิตอากาศยาน ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน และซ่อมบำรุงอากาศยาน ได้แก่ บริษัท แอร์บัส, บริษัท ไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด, บริษัท ไทรอัมพ์ สตรัคเจอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน และหลักสูตรฝึกอบรมนักบิน ในการผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ ให้เกิดขึ้นภายในสนามบินอู่ตะเภา

ปัจจุบัน สบพ. เปิดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่แล้ว และเมื่อร่วมมือกับบริษัท แอร์บัส เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน จะทำให้สบพ. มีหลักสูตรตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (เอียซ่า) เพิ่มเติมมาด้วย นอกเหนือไปจากหลักสูตรปัจจุบันตามาตรฐาน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ตั้งเป้า ปี 2564 เป็นต้นไป จะผลิตบุคลากรด้านช่างให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบันผลิตได้ 120 คนต่อปี เป็น 350 คนต่อปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 800 คนต่อปี

นายอาคม กล่าวต่อว่า ขณะนี้สิงคโปร์ เป็นผู้นำในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อไทยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่สนามบินอู่ตะเภา รวมทั้ง สบพ. ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการบินชั้นนำระดับโลก มีการจัดหาเครื่องมือใหม่ๆ พัฒนามาตรฐานหลักสูตร และครูผู้สอนต่อเนื่อง ก็จะทำให้ในอนาคตการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินไม่น้อยหน้าสิงคโปร์

พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ บริษัท แอร์บัส จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานของบริษัท แอร์บัส ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมทั้งจะร่วมพัฒนาศูนย์ฝึกการบินของ สบพ. ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้ได้มาตรฐานของเอียซ่า ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ขณะเดียวกันในอนาคตบริษัท แอร์บัส มีแผนร่วมทุนกับ สบพ. จัดตั้งหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านการบินระดับแอดวานซ์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

ขณะนี้บุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน และช่างซ่อมอากาศยานของไทย ยังไม่อยู่ในภาวะขาดแคลน และหากผลิตบุคลากรได้ตามเป้าหมายที่ สบพ. วางไว้ ก็จะเพียงพอรองรับกับอุตสาหกรรมการบินของไทยที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ยังมีแผนป้อนบุคลากรด้านการบินสู่กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามตามนโยบายรัฐบาลด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน