บอร์ดรถไฟ เห็นชอบทำโครงการเร่งด่วน ติดตั้งระบบไฟฟ้าบนพื้นที่เดินรถรถไฟสีแดงทางไกล แก้ปัญหาควันจากรถไฟดีเซลวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ คาดใช้งบลงทุนขั้นต่ำ 1.7 พันล้าน – พร้อม ทุ่ม 2.3 หมื่นล้าน ลุยรถไฟไฟฟ้าเส้นแรก บางซื่อ-ชุมทางจิระ คาดเปิดประมูลปี’64

รฟท. ลุยรถไฟไฟฟ้าเส้นแรก – นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหามลภาวะควันที่จะเกิดจากขบวนรถไฟสายสีแดงทางไกล (ระบบดีเซล) ที่จะวิ่งเข้าไปยังสถานีกลางบางซื่อในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันภายในสถานีกลางซึ่งเป็นห้องปรับอากาศ เบื้องต้น รฟท. เร่งแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดทำโครงการเร่งด่วนติดตั้งระบบไฟฟ้าในพื้นที่รถไฟสายสีแดงระยะทางไกล 2 เส้นทาง คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมจัดหาหัวรถจักรไฟฟ้าเข้ามาทำการลากขบวนรถทางไกลทั้ง 2 ขบวนเข้ามายังสถานีกลางบางซื่อแทนการให้หัวรถจักรดีเซลวิ่งเข้ามายังสถานีกลางบางซื่อเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควัน

เบื้องต้นจะต้องลงทุนในการติดตั้งระบบไฟฟ้าบนพื้นที่รถไฟสายสีแดงระยะทางไกลราว 1,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมวงเงินจัดซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมตัวเลขว่าจะใช้เงินลงทุนรในโครงการรวมทั้งสิ้นเท่าไหร่ คาดว่าจะนำเสนอวงเงินงบประมาณรวมและเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะต้องเร่งรัดดำเนินโครงการให้สามารถเปิดให้บริการด้ก่อนที่สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการเป็นทางการในปี 2564

นอกจากนี้ บอร์ด ยังรับทราบผลการศึกษาโครงการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าบนเส้นทางคู่ (รถไฟไฟฟ้า) เพื่อทดแทนการเดินรถไฟด้วยเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 4 เส้นทาง ตามที่ รฟท. เสนอ คือชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 252 ก.ม. วงเงิน 28,720,240,462, ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 243 ก.ม. วงเงิน 23,682,122,249 ล้านบาท, ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางหนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 209 ก.ม. วงเงิน 33,572,420,609 ล้านบาท และ ชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา ชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา ระยะทาง 160 ก.ม. วงเงิน 10,127,296,374 ล้านบาท

ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า เส้นทางที่มีความคุ้มค่าสูงสุดและจะมีการเร่งดำเนินการก่อนคือ ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางถนนจิระ โดย หลังจากนี้ รฟท. จะต้องกลับไปจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 และเปิดประมูลได้ประมาณปี 2564 ใช้เวลาในการติดตั้งระบบไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2566 ทันกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน