ก.พลังงาน ยันโรงกลั่น 6 รายพร้อมผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ปี’66 งัด 3 มาตรการรองรับ เล็งลดราคาดีเซลพรีเมียมลงอีกจูงใจ จ่อขยายเวลาอุดหนุนราคาบี 20 ต่ำกว่าดีเซลบี 7 ที่จะสิ้นสุดปลายเดือนนี้ออกไปอีก

หั่นราคาดีเซลพรีเมียมลงอีก – นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่น เพื่อหามาตรการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ว่า กระทรวงได้เร่งรัดผู้ประกอบการโรงกลั่นในประเทศ 6 รายที่พร้อมจะผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 จากเดิมในปี 2567-68 โดยระหว่างที่ยังผลิตไม่ได้จะมี 3 มาตรการจูงใจ ได้แก่

1. ส่งเสริมการผลิตยูโร 4 พลัส ที่จะลดค่ากำมะถันลงเหลือ 30 พีพีเอ็ม 2. หาแรงจูงใจให้จำหน่ายน้ำมันยูโร 5 มากขึ้นด้วยการลดราคาดีเซลเกรดพรีเมียมลงอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ใกล้เคียงกับดีเซลปกติมากสุด 3. รณรงค์การใช้บี 20 ให้มากขึ้นโดยอาจขยายเวลาการอุดหนุนราคาบี 20 ให้ถูกกว่าดีเซล (บี 7) อัตรา 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ.นี้ ออกไปอีก

“ปัจจุบันมีโรงกลั่นผลิตน้ำมันยูโร 5 ได้เพียง 2 แห่งคือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) กับโรงกลั่นบางจาก เมื่อปรับมาผลิตทุกรายจะต้องลงทุนทั้งหมด 3.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเราก็พยายามเร่งให้เร็วและระหว่างที่ยังผลิตยูโร 5 ไม่ได้ จะมีมาตรการมาดูแลปัญหาฝุ่นที่มอบให้ทุกส่วนไปจัดทำรายละเอียดที่จะต้องดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้ โดยเบื้องต้นรัฐจะให้ลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบลงจาก 6% เหลือ 1-2% ของการจำหน่าย เพื่อลดภาระการลงทุนและไม่ให้กระทบราคาขายปลีก”นายศิริกล่าว

นอกจากนี้ ขณะนี้ยังให้ศึกษาแนวทางส่งเสริมการผลิตมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 4 พลัส ที่ลดค่ากำมะถันลงต่ำสุดเหลือ 30 พีพีเอ็ม จากค่ามาตรฐานเดิม 50 พีพีเอ็ม คาดว่าจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลงได้อีก 10-15% ทำให้คุณภาพอากาศจะดียิ่งขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 ที่ขณะนี้มีการผลิตอยู่ 500 ล้านลิตรต่อเดือน หรือคิดเป็น 25% ของความต้องการใช้ดีเซลปกติ

นายศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ดีเซลพรีเมียมด้วยการลดราคาจำหน่ายลงมาอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ลดราคาไปแล้ว 1 บาทต่อลิตร ทำให้ดีเซลพรีเมียมแพงกว่าดีเซลปกติขณะนี้ประมาณ 2.60 บาทต่อลิตร ตั้งเป้าหมายให้ส่วนต่างใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยอาจใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาดูแลเพื่อให้เป็นมาตรการระยะยาว ประกอบกับรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษบี 20 เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป เช่น รถกระบะ 1 ตัน จากปัจจุบันบี 20 ใช้เฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ และเรือโดยสารสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการเปิดจำหน่ายบี 20 ผ่านปั๊มน้ำมัน ปตท.และบางจาก 10 ปั๊ม พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียง 3 วัน ขายได้ถึง 150,000 ลิตร จึงเตรียมเร่งขยายผลส่งเสริมให้ปั๊มขายบี 20 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณาขยายระยะเวลาการอุดหนุนราคาบี 20 ให้ถูกกว่าบี 7 อัตรา 5 บาทต่อลิตร จากเดิมหมดระยะเวลา 3 เดือนภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า เตรียมประสานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งกำหนดมาตรฐานบังคับเครื่องยนต์ยูโร 5 ทั้งเบนซินและดีเซลภายในปี 2564 รองรับค่ายรถที่ผลิตรถยนต์ใหม่มาตรฐานยูโร 5 คาดจะมีความชัดเจนและมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี โดยเบื้องต้นบริษัทรถยนต์ 9 ราย ตอบรับกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ทุกรุ่น ได้แก่ โตโยต้า บีเอ็มดับบลิวยู จีเอ็ม อีซูซุ มาสด้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ มิซซูบิชิ เอ็มจี และซูซิกิ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษฝุ่น จากทั้งหมด 12 ราย

สำหรับค่ายรถยนต์อีก 3 ราย ได้แก่ ฮอนด้า ฟอร์ด และนิสสัน ที่ยังไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ โดยขอกลับไปหารือกับบริษัทแม่และศึกษาเทคโนโลยีก่อน ซึ่ง สศอ.จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด คาดจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และน่าจะมีการแถลงข่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในเดือนก.พ.นี้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาไทยมีความล่าช้าเรื่องการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ที่สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 และไทยควรเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2554 แต่ไทยกลับเพิ่งเริ่มยูโร 4 เมื่อปี 2555

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน