สทนช. ห่วงอีสานแล้ง หารือจัดสรรน้ำ หวังบรรเทาขาดแคลนตลอดมี.ค.-เม.ย.นี้ แจ้งเตือนเกษตรกรงดปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง ลั่นไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ไม่ปลูกตามแผนที่กำหนดเพิ่ม

สทนช. ห่วงอีสานแล้ง – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ หลายพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้เพิ่มความสูญเสียน้ำในระบบและแหล่งน้ำมากขึ้น โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคได้ เบื้องต้น สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการจัดสรรน้ำสำหรับฤดูแล้งเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม ที่มีปริมาณน้ำลดลง

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศพบว่า ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำน้อยถึงปกติ โดยแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 418 ลบ.ม./วินาที อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อัตราการไหลผ่าน 90 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อัตราการไหลผ่าน 0.24 ลบ.ม./วินาที ส่วนแม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 0.76 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 130 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มทรงตัว ส่วนแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย จ.นครพนม ถึง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 9.00 ม. ระดับน้ำทรงตัว, 9.99 ม. เพิ่มขึ้น 0.01 ม. และ 11.98 ม. ระดับน้ำทรงตัวตามลำดับ

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค จึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการจัดสรรน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา โดยปริมาณน้ำที่จัดสรรยังคงเป็นไปตามแผนเดิม แต่ปรับระยะเวลาการจัดสรรน้ำให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ เป็นตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.- 5 เม.ย. 2562 เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ส่วนบริเวณท้ายฝายหนองหวายตลอดลำน้ำพองและแม่น้ำชีจนถึงหน้าเขื่อนระบายน้ำวังยาง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งใช้น้ำจากลำน้ำพองและแม่น้ำชี ยังได้รับการจัดสรรน้ำตามแผน สำหรับเขื่อนลำปาวได้เพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีตอนล่างเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขต จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และจ.อุบราชธานี

“สทนช. ได้เฝ้าระวัง ติดตามกำกับให้มาตรการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งเป็นไปตามแผน เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย.นี้ และยืนยันว่าตลอดฤดูแล้งนี้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค โดยขอให้หน่วยงานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ การระบายน้ำเสียและการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แจ้งเตือนเกษตรกรงดปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง ลดการเลี้ยงปลาในกระชัง ไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ไม่ปลูกตามแผนที่กำหนดเพิ่ม สำรวจความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนเพื่อประเมินน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง และรณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักรเพื่อพร้อมให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนที่สำคัญสามารถนำมาบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้งนี้ พบว่า อ่างฯขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำ 49,048 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 69% ปริมาณน้ำใช้การ 25,506 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% อ่างฯ ขนาดกลาง 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 3,111 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% ปริมาณน้ำใช้การ 2,684 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ขณะที่อ่างฯ มากกว่า 80% ของความจุ แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ขนาดกลาง 60 แห่ง อ่างฯ ระหว่าง 50-80% ของความจุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน