นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้กำหนดให้สายการบินทั่วโลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะให้เริ่มเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ ตั้งแต่ปี 2562-63 และในปี 2564 เพื่อใช้เป็นฐานในการควบคุมไม่ให้สายการบินปล่อยก๊าซฯ เกินระดับข้อมูลของปี 2562-63 หากปล่อยเกิน สายการบินต้อง จ่ายค่าชดเชยปริมาณก๊าซที่ปล่อยกิน ตามขั้นตอนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต (Emission Unit)

ทั้งนี้กพท. ได้แจ้งให้สายการบินของไทยที่ทำการบินระหว่างประเทศ ทั้ง 19 สายการบินทราบแล้ว บางสายเริ่มทยอยส่งข้อมูลการใช้ปริมาณน้ำมันบ้างซึ่งใช้ในการคำนวนคาร์บอนมาบ้างแล้ว จากนั้นจะเก็บข้อมูลอีกครั้งในปีหน้าและปี 2564 จะเริ่มบังคับให้ทุกสายการบินไม่ปล่อยปริมาณก๊าซฯเพิ่มเติมจากเดิม เบื้องต้น สายการบินตื่นตัวเรื่องมาตรการลดการปล่อยก๊าซฯอาทิ ล้างเครื่องบินไม่ให้มีฝุ่น เพื่อช่วยลดการต้านอากาศได้มากกว่าปกติ และล้างเครื่องยนต์ เพราะการที่ไม่มีคราบเขม่า จะทำให้ประสิทธิภาพของการปล่อยก๊าซฯลดน้อยลง

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อกับการบิน เช่นบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด (บวท.) และสนามบินได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระเบียบการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ช่วยให้เครื่องบินไม่ต้องบินวนและเผาไหม้น้ำมันทิ้ง

อย่างไรก็ตาม จากสถิติข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ ของสายการบินของไทย พบว่า ประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซฯ ต่อกิโลเมตร (ก.ม.) ต่อที่นั่งดีขึ้นทุกปี เห็นได้จากปี 2553 อยู่ที่ 1.14 กิโลกรัม (กก.) ต่อก.ม. ต่อที่นั่ง, ปี 2557 อยู่ที่ 0.87 กก. ต่อก.ม. ต่อที่นั่ง และปี 2560 อยู่ที่ 0.82 ก.ก. ต่อก.ม. คาดว่า ในอนาคตจะลดต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งช่วยเรื่องปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน