ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) แถลงข่าวการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพัน ทางกฎหมาย ระหว่าง ING Group ธนาคารธนชาต บมจ.ทุนธนชาต ธนาคารทหารไทย และ The Bank of Nova Scotia เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการ สำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยเมื่อการรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ ทาง ING Group และธนาคารธนชาต จะเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนมากกว่า 20% ขณะที่กระทรวงการคลังจะยังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มั่นใจการควบรวมครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จ และจะเกิดประโยชน์กับธนาคารทั้ง 2 แห่งและระบบสถาบันการเงิน เพราะจะทำให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพแข่งขันได้ โดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ มั่นใจว่าการควบรวมจะทำให้ธนาคารดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

“การควบรวมกิจการระหว่าง TBANK และ TMB จะสำเร็จอย่างแน่นอน เนื่องจากแผนการควบรวมกิจการเพื่อให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้นนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล และคลังพร้อมเพิ่มทุนยืนยันว่ามีความพร้อมเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งมีช่องทางอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยคลังยืนยันที่จะเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นหลัก”นายจุมพล กล่าว

นาย Philippe G.J.E.O Damas ประธานกรรมการบริหาร TMB กล่าวว่า หลังจากนี้ ทั้ง 2 ธนาคารจะเริ่มการเข้าตรวจสอบสถานะการเงิน (Due Diligence) และการเจรจาร่วมกันเกี่ยวกับสัญญาหลักระหว่างคู่สัญญา โดยมองว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นยังคงต้องใช้เวลา 2-3 เดือน หรือ เป็นปี ส่วนใครจะเป็น CEO การดำเนินการด้านพนักงานจะเป็นอย่างไรนั้นคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่อไป

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า ธนาคารคาดภายหลังจากทำ Due Diligence ธนาคารจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นนัดพิเศษ เพื่อขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นในการเพิ่มทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร คือ ING และกระทรวงการคลัง ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น หรือ สัดส่วนการเพิ่มทุนจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอดูการทำ Due Diligence แต่ยืนยันว่า กระบวนการโอนหุ้นจะจบภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนชาต กล่าวว่า ภายหลังการควบรวมกิจการ จะมีทรัพย์สินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ารวมกว่า 10 ล้านคน ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ ได้การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งการรวมกิจการกันจะทำให้ธนาคารมีจุดแข็งเพิ่มขึ้น

โดยธนาคารธนาคารมีจุดแข็งด้านสินเชื่อรถยนต์ ส่วนธนาคารทหารไทยมีจุดแข็งเรื่องการระดมเงินฝาก ทำให้มีต้นทุนต่ำลง และ ระหว่างการดำเนินการควบรวม จะมีการตรวจสอบสถานะการเงิน และเตรียมเจรจาการทำสัญญาหลัก รวมถึงการปรับโครงสร้างของธนาคาร

สำหรับการเพิ่มทุนของธนาคารนั้น ภายหลังจากได้โครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างเป็นทางการ จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งพิเศษภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่ออนุมัติการเพิ่มทุน โดยเบื้องต้นธนาคารทหารไทยจะเป็นผู้หาเงินทุนดังกล่าว จำนวน 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดย 70% มาจากการเพิ่มทุน แบ่งเป็น 50,000-55,000 ล้านบาท ออกหุ้นเพิ่มทุน ให้กับ บมจ.ธนชาต และธนาคารโนวา สโกเทีย ในมูลค่าเท่ากับ 1 ต่อ 1 เท่า และอีก 40,000-45,000 ล้านบาท ทหารไทยจะเสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า หลังการควบรวม ธนาคารทั้ง 2 แห่งจะไม่มีการลดจำนวนพนักงาน แต่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งการทำงานของพนักงานที่มีความซ้ำซ้อนกัน มาจัดสรรให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และจะฝึกทักษะการทำงานของพนักงานให้มีความสามารถและเชี่ยวชาญมากขึ้น

โดยปัจจุบันธนาคารธนชาต มีพนักงานจำนวน 12,000 คน และธนาคารทหารไทยมีจำนวนกว่า 8,000 คน ซึ่งตามปกติในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกและเกษียณอายุใน 2 ธนาคารประมาณ 2,000 ต่อปี ดังนั้นระดับอัตราพนักงานที่เหมาะสมจะอยู๋ในระดับ 15,000 คนต่อปี ส่วนจำนวนสาขาของธนาคารธนชาตมี 512 สาขาและธนาคารทหารไทยมี 400 สาขา อาจจะรวมสาขาที่ซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน พร้อมปรับเปลี่ยนสถานที่ตั้ง ขนาด รูปแบบรองรับลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น

ส่วนนายปิตติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ยืนยันว่า ระหว่างนี้ ทั้ง 2 ธนาคารจะให้บริการโดยใช้ชื่อเดิมต่อไป ขณะที่ลูกค้าของทั้ง 2 แห่งยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติ โดยยืนยันลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้แต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน