มองต่างมุมค่าเงินบาทแข็ง

ฉุดส่งออกวูบ-อุตสาหกรรมกระอัก

มองต่างมุมค่าเงินบาทแข็ง ฉุดส่งออกวูบ-อุตสาหกรรมกระอัก – สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ 31.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 2.73% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2561 ที่ค่าบาทอยู่ที่ 32.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่สำคัญเงินบาทยังแข็งค่าเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นของประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนแข็งค่า 3.04% โดยเงินบาทแข็งค่ากว่า ค่าเงินรูเปียะของอินโดนีเซีย ที่แข็งค่า 2.29% ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่า 1.44% ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.65% และค่าเงินดองของเวียดนามแข็งค่า 0.36% เป็นต้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อ 10 อุตสาหกรรม

1. อุตสาหกรรมพลาสติก ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นบาทละ 3% ลูกค้าระงับการส่งออร์เดอร์ หากยังแข็งค่าต่อไป มีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะหันไปสั่งสินค้าจากแหล่งอื่นที่ถูกกว่า ภาครัฐควรแทรกแซงให้ค่าเงินบาท อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 31.50-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือควรชดเชยภาษีให้ผู้ส่งออก 3-5% เป็นการชั่วคราว

2. เครื่องนุ่งห่ม ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ตอนนี้คำสั่งซื้อสินค้าหายไปและอาจจะหายไปในระยะยาว ซึ่งหากเงินบาทเคลื่อนไหวหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีผลต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง

3.เซรามิก ได้รับผลกระทบต่อยอดขายสุทธิที่จะได้ลดลง หากมีการขึ้นราคากับลูกค้า ก็จะเป็นผลลบในเชิงการแข่งขันต่อภาพรวมการส่งออกน่าจะหายไป 10% แต่ต้นทุนเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นตามค่าโสหุ้ย 4. ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เนื่องจากยอดส่งออก ชิ้นส่วนยานยนต์มีมูลค่าสูง ผนวกกับสถานการณ์สงคราม การค้า หลายประเทศ เริ่มปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

5. เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากมีการส่งออกกว่า 80% ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ในสายตาของคู่ค้าจาก ต่างประเทศ 6. สิ่งทอ การส่งออกได้รับผลกระทบ จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง 7. เครื่องหนัง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เป็น ผู้ประกอบการส่งออกกว่า 60-70% ซึ่งได้ประโยชน์ค่าเงินบาทแข็งจากการนำเข้าวัตถุดิบ น้อยกว่าต้นทุน ที่สูงขึ้น

8. อุตสาหกรรมไฟฟ้า มีสัดส่วนการส่งออกมาก ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับค่าเงินได้ เพราะมีสัญญาการซื้อขายล่วงหน้า 9. ปิโตรเคมี ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทมีส่วนต่างของรายได้ จากการขายและต้นทุนวัตถุดิบลดลง 10. เครื่องสำอาง การส่งออกได้รับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ได้เห็นผลกระทบชัดเจนแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 ฉุดการส่งออกปี 2561 ที่ผ่านมาทั้งปีโตได้ 6.7% เท่านั้น จากประมาณการเดิมคาดไว้ที่ 8-10% ปีนี้ที่คาด จะเห็นการส่งออก โตได้ 8% อาจเป็นไปได้ยาก จึงอาจต้องทบทวนประมาณการส่งออกปีนี้ใหม่ เหลือโตเพียง 4-5% เท่านั้น

แนวโน้มสงครามการค้าจีน-สหรัฐ อาจยืดเยื้อ แม้จะมีการเจรจาขยายระยะเวลาบังคับใช้ มาตรการภาษีกีดกันสินค้าจากจีนออกไปจากที่จะมีผลวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่ดูท่าทีสหรัฐก็ยังไม่มีความชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อทั้งการค้าระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง และเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกที่สั่นคลอนได้

สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งสูงขึ้น แม้สหรัฐส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้ แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ทำให้ปีนี้สหรัฐอาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วมากนัก

เพราะฉะนั้นกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย จึงยังคงให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย กดดันค่าเงินบาทแข็งค่า จากปัจจุบันเงินบาทก็แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอยู่แล้ว ส่งผลกระทบต่อกำไรจากการค้า เมื่อแลกเป็นเงินบาทค่อนข้างมาก เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 4% ในที่สุด

“จากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและนอกประเทศ ทำให้ทางภาคเอกชนอาจต้องมีการทบทวนประมาณการจีดีพีปี 2562 ใหม่อีกครั้ง จากเดิมคาดจีดีพีของไทยปีนี้จะโตได้ไม่ต่ำกว่า 4% เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก 60-70% ของรายได้ทั้งประเทศ โอกาสที่จีดีพีปีนี้จะโตไม่ต่ำกว่า 4% ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดไว้คงเป็นไปได้ยาก”

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเป็นห่วงผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากมานานแล้ว แต่เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ขณะที่กระทรวงการคลังคงจะไม่เข้าไปก้าวก่ายมากนัก โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ธปท. ยอมรับว่าค่าเงินบาทในบางช่วงแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ยังไม่พบว่ามีความเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ การเก็งกำไร ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้าไทยเป็นเงินที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ยืนยันว่า เรื่องของค่าเงินบาท ไม่สามารถกำหนดค่าเงินให้คงที่ได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลต่อกระทบค่าเงินบาทมาก และมี แนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ

“จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำไม่ใช่ แค่ ธปท. เพียงอย่างเดียว ในการช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนได้มากขึ้น เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นที่สามารถรองความผันผวนได้มากกว่าไทยและเห็นว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้และยังต้องปรับคุณภาพ ตราสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องราคา เพราะจะไม่ยั่งยืน”

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า ไทยผ่านช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งสุดไปแล้วในเดือนม.ค. 2562 ที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุด 28 ก.พ. 2562 ค่าเงินมาอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่แนวโน้มทั้งปี ค่าบาทจะแข็งค่า หรืออ่อนค่าไปในทิศทางใดก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เพราะปัจจัยอยู่ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ถ้าอยากให้บาทอ่อนก็ต้องภาวนาให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง มีความสงบและมีเสถียรภาพเป็นสวรรค์ของนักลงทุน เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยปี 2561 ปีที่ผ่านมาเติบโต 4.1% ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2561 ยังเกินดุลอยู่ที่ 37,736 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนม.ค. 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 209,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฉะนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินลงทุนต้องไหลเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนามที่สู้ไทยไม่ได้อยู่แล้ว ถามว่าใครปั่นให้ค่าเงินแข็งค่าหรือไม่ ไม่ใช่ แต่ค่าเงินบาทสะท้อนความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย

“ต้องยอมรับว่า ได้อย่างก็เสียอย่าง จะได้ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเรามัวแต่บอกว่า ค่าเงินบาทถูก แต่ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพ ไม่ปรับเปลี่ยน ไม่พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ไม่ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แบบนี้จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แทรกแซงให้เงินบาทอ่อนงั้นหรือ? แต่ถ้าคิดมีเดินขบวนเผาเมืองเมื่อไหร่ รับรองว่าเงินบาทได้กลับไป 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแน่นอน..เอาไหมล่ะ”

เห็นทีเอกชนไทยคงต้องพึ่งตนเองกันไปก่อน!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน