นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคมทุกโหมด ตอบโจทย์ประเทศไทย” ในงานนิทรรศการและการเสวนาการสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่ง และความปลอดภัย ประจำปี 62 ครั้งที่ 1” เมื่อวันที่ 4 มี.ค ว่า ปี 2562 กระทรวงกำหนดการลงุทนตาม แอคชั่นแพลนไว้ 21 โครงการ วงเงินลงทุน 1.29 ล้านล้านบาท ทั้งบก น้ำ และอากาศ ขณะนี้มีบางโครงการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่วนโครงการที่เหลืออาจจะเสนอครม.พิจารณาไม่ครบทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.นี้ แต่จะเสนอให้ทันในรัฐบาลชุดนี้

ทั้งนี้ ล่าสุด ได้เสนอโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 6,645 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม.วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท ไปยังครม.เพื่อ รอบรรจุเข้าวาระการประชุมครม.แล้ว โดยบางโครงการเริ่มก่อสร้างแล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ระยะแรก 3.5 กม. ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 50% ส่วนระยะ 2 กุดจิก-สีคิ้ว ระยะทาง 11 กม. จะลงนามสัญญาวันที่ 6 มี.ค.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 19 สัญญา จะทยอยลงนามเดือน เม.ย.- มิ.ย.นี้
ประมาณเดือน ก.ค.นี้จะเริ่มก่อสร้างได้ทั้งหมด คาดเปิดบริการได้ปลายปี 65 หรือต้นปี 66 ส่วนเฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. อยู่ระหว่างออกแบบคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 69

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.นาคม กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้พัฒนารถไฟฟ้าได้ครบ 10 สาย และในแผนต่อไป จะพัฒนาเพิ่ม 4 สาย ภายใต้แผน M-Map2 อนาคตจะมีจุดเชื่อมต่อมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสายสีน้ำเงินวิ่งเป็นวงกลม และผลหลังจากนั้นรัฐบาลก็จะสามาถบริหารจัดการการจราจรได้ เพราะทุกคนมีทางเลือกในการใช้รถไฟฟ้าทดแทนแล้ว และเชื่อว่าสังคมรุ่นใหม่ระบบขนส่งมวงชนรถไฟฟ้าจะตอบโจทย์มากที่สุด และการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้กรุงเทพขยายตัว จากประชากร 10 ล้านคน จะขยายเป็น 20 ล้านคน

ส่วนแผนพัฒนาทางถนน ไทยจะมีมอเตอร์เวย์เชื่อมอย่างปลอดภัย เป็นระบบสากล จะเร่งรัด 3 เส้นทาง รัศมี 200 กม. รอบกรุงเทพฯ 1.สายบางปะอิน – โคราช 2. สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี 3.สายพัทยา – มาบตาพุด และ ทล. ยังมีแผนเสนอ กรุงเทพฯ – หัวหิน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล อนาคตจะเห็นมอเตอร์เวย์เป็นพื้นฐานทางหลวงของไทย

การขนส่งทางน้ำ ไทยมีแม่น้ำเยอะ แต่ใช้ขนส่งได้น้อย แต่ไทยกำลังจะมีท่าเรือระดับเวิลคลาส ที่แหลมฉบัง อนาคตภาพกำลังจะเปลี่ยนไป เราไม่ต้องไปต่อเรือแม่ ความยาว 400 เมตร ขนส่ง 1.6 หมื่นตู้ ที่ฮ่องกง หรือสิงคโปร์แล้ว เนื่องจากปัจจุบันเรามีแผนพัฒนาแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบรางให้เข้ามาเชื่อมต่อการขนถ่ายสินค้า และลดต้นทุนการขนส่ง นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก อย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ พยายามให้มีเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว

ทางอากาศ ก็จะมีการพัฒนาศักยภาพ 3 สนามบินหลัก อู่ตะเภา เรากำลังเตรียมเปิดประมูล พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในโครงการอีอีซี ที่มีเป้าหมายขยายเมืองใหม่ กรุงเทพขยายตัว 20 ล้านคนแล้ว เราก็จะต้องมีเมืองรองรองรับ ขนถ่ายเอาอุตสาหกรรมย้ายฐานออกไป โดยมีรถไฟความเร็วสูงคอยเชื่อม แผนพัฒนาก็จะต่อออกไปถึงระยอง และจันทบุรี อีอีซีกับกรุงเทพ อนาคตจะเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน กรุงเทพจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และอีอีซีจะรองรับอุตสาหกรรม โดยอีอีซีจะสร้างจีดีพีให้ประเทศไม่ต่ำกว่า 15%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน