กบง.ตั้งคณะทำงานศึกษาลอยตัวเอ็นจีวี ชี้รถขนส่งสาธารณะในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวี แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์อีวีแทน

กบง.จ่อลอยตัวเอ็นจีวี – นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ เอ็นจีวี มาร์เก็ตเพลส (NGV Marketplace) ที่ร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ และเทศบาลเมืองบ้านสวน จ.ชลบุรี ว่า ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและปรับปรุงนโยบายลอยตัวก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่มีการใช้มาระยะหนึ่งแล้วให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการชดเชยราคาเอ็นจีวีสำหรับรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้รับภาระในส่วนนี้อยู่

“ตั้งเป้าจะทำให้การช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนและผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะโดยตรง ซึ่งมองถึงการใช้บริการร่วมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่ถือครองโดยผู้ที่มีรายได้น้อย ที่จะเป็นการกำหนดโควตาการใช้งานรายเดือนและหักยอดหากมีการใช้จริง แทนที่จะนำเงินไปอุดหนุนในส่วนของผู้ให้บริการ แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่ได้มีการตัดสินใจที่ชัดเจน ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานก่อน”นายกุลิศ กล่าว

สำหรับคณะทำงาน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกระทรวงคมนาคมได้เป็นพิจาณาว่าผู้บริโภคที่ได้รับความช่วยเหลือ คือ ผู้ประกอบการขนส่ง รถตู้ รถขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถร่วมขสมก. รถตุ๊กตุ๊ก รวมกว่า 80,000 ราย ซึ่งได้มีการช่วยเหลือมาระยะหนึ่งแล้ว และต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ทาง ปตท. กำลังแบกรับภาระอยู่

ขณะที่การส่งเสริมเอ็นจีวีในระยะยาวนั้นก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอนาคตการใช้รถของผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น จึงมองว่ารถเอ็นจีวีก็อาจจะน้อยลง โดยกระทรวงมีการประกาศออกไปแล้วว่ารถขนส่งสาธารณะในอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีก็ได้ แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นรถยนต์อีวีแทน

ในส่วนของการพัฒนาแผนก๊าซธรรมชาติ แผนน้ำมัน แผนพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่เป็นแผนลูกของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) 2018 จะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการกำหนดสัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเบื้องต้นมีโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วคือโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน (โซลาร์รูฟ) ไบโอแมส ไบโอแก๊ส โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าประชารัฐ ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องไปดูกันในแต่ละภาคของประเทศไทยว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ และจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าอะไร โดยเริ่มจากปีนี้หากจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็จะต้องดูว่าเป็นพื้นที่ใดก่อน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการ เอ็นจีวี มาร์เก็ตเพลส ว่า เป็นการมุ่งเน้นความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับเกษตรกร ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้นำสินค้าทางการเกษตรมาขายในปั๊มเอ็นจีวี โดยได้มีการนำร่อง 1 แห่งในสาขาบ้านบึง จ.ราชบุรี หากมีผลตอบรับที่ดี ก็พร้อมที่จะขยายไปยังสาขาอื่นๆ อีก 10 แห่ง ซึ่งยืนยันว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการดำเนินการ แต่ต้องการที่จะช่วยเกษตรอย่างแท้จริง

“เราจะอาศัยกระบวนการใช้ ดิจิตอลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพรวมถึงกระจายสินค้าทางกายภาพให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งเรามีปั๊มเอ็นจีวีกว่า 400 แห่งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ที่ทุก เพราะต้องดูถึงศักยภาพในการรองรับก่อน เพราะสินค้าพวกนี้เน่าเสียง่าย ต้องมีการค้าขายโดยเร็ว และมีการเก็บรักษาคุณภาพไว้อย่างดี รวมถึงต้องดูในส่วนของปริมาณความต้องการของพื้นที่ชุมชนนั้นๆ และปริมาณของซัพพลายที่มีมาป้อนให้เพียงพอด้วยถึงจะสามารถเกิดขึ้นได้”นายชาญศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน