นานาทัศนะภาคเอกชนไทย พรรคการเมืองชูขึ้นค่าแรง

ทัศนะภาคเอกชนไทย – ในศึกเลือกตั้ง 2562 หนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองชั้นนำแข่งกันหาเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนเริ่มต้นของผู้เรียนจบปริญญาตรี ซึ่งในอดีตพรรคเพื่อไทย สมัย ..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยชูค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ปริญญาตรีเริ่มต้น 15,000 บาท/เดือน

มาถึงการเลือกตั้งหนนี้มีหลายพรรคนำมาเป็นจุดขาย

อาทิ พรรคพลังประชารัฐเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท สูงสุด 425 บาทต่อวัน การันตีเงินเดือนวุฒิอาชีวะ 18,000 บาท/เดือน ส่วนปริญญาตรีขั้นต่ำ 20,000 บาท/เดือน

พรรคเพื่อไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วุฒิปริญญาตรี 18,000 บาท/เดือน

พรรคประชาธิปัตย์ ประกันรายได้ของแรงงานขั้นต่ำ 120,000 บาท/ปี

พรรคสามัญชน เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาท/วัน เป็นต้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำเดือนละ 10,000 บาท หรือ 120,000 บาทต่อปี หากลูกจ้างมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ รัฐมีแนวทางชดเชยส่วนต่างรายได้ให้ถึงเกณฑ์ ที่กำหนด โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและ งบประมาณภาครัฐมากเกินไป

การปรับทักษะแรงงานและการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องสอดคล้องกันตามทักษะที่แตกต่างกัน โดยการเพิ่ม ค่าจ้างต้องมาพร้อมกับการเพิ่มทักษะที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่จะช่วยเหลือคือกลุ่มเกษตรกร แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบายเร่งเพิ่มทักษะแรงงานแลกกับการทยอยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปอยู่ที่ 425 บาทต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน ภายใน 3 ปี ตามสภาวะเศรษฐกิจและศักยภาพการผลิต ต้นทุน ค่าขนส่ง รวมถึงค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักศึกษา จบใหม่ไม่ต้องเสียภาษี 5 ปีแรก

นโยบายเหล่านี้สามารถทำได้จริงหรือไม่ คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดไม่พ้นภาคเอกชน เพราะเป็นผู้ที่ต้องควักเงินค่าแรงจ่ายให้กับลูกจ้าง หรือพนักงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) กล่าวว่าเมื่อพรรคการเมืองหลัก ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามทักษะฝีมือแรงงาน ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นทันที ซึ่งในอนาคตเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกการบังคับใช้มาตรฐาน ค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วปรับเป็นอัตราค่าจ้างแบบลอยตัว ตามทักษะแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน

ภาคเอกชนไม่ต้องการให้พรรคการเมืองนำนโยบายเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นนโยบายหาเสียง เพราะยอมรับว่าที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับต้นทุนการทำธุรกิจ ของผู้ประกอบการ ที่สุดท้ายอาจส่งผ่านไปยังราคาสินค้า แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ต้นทุน และกลไกตลาดอย่างแท้จริง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบายหาเสียงประชานิยมของพรรคการเมืองว่า นโยบายประชานิยม ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องไม่ดี แต่ต้องพิจารณาว่านโยบายนั้นๆ มีความเป็นไปได้หรือไม่

เช่นเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรค จะมีรายละเอียดของที่มาของงบประมาณที่จะมาใช้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนต้องติดตาม ศึกษารายละเอียดว่า เป็นไปได้หรือไม่ และหากเมื่อพรรคที่หาเสียงด้วยนโยบาย ดังกล่าวเข้ามาบริหารประเทศ ก็มีกรอบวินัยการเงินการคลังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ภาคธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบกับเรื่องค่าแรงมากที่สุดวงการหนึ่งไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ต้องถามว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 450-500 บาท ของพรรคการเมืองนั้น ครอบคลุมถึงค่าแรงต่างชาติหรือไม่ หากครอบคลุมด้วย คาดว่าจะเกิดการ หลั่งไหลของแรงงานต่างชาติในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแถบเออีซี ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา วิ่งเข้ามาทำงานในไทยกันขนานใหญ่ เพราะได้ค่าแรงแพงกว่า 5 เท่า เทียบกับค่าแรงงานในประเทศเหล่านี้อยู่ที่วันละ 100 บาท

อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าแรงงาน ผู้ที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลควรต้องดูค่าแรงในตลาดโลกด้วย ซึ่งหากปรับขึ้นโดยไม่ดูข้อมูลตลาดอาจทำให้ภาคเอกชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยหันไปใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน เพราะคำนวณแล้ว คุ้มกว่าหรือไม่ก็อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านแทน

ในขณะเดียวกันหากพรรคที่ชูนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เสียงข้างมากจากประชาชน และชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล เชื่อว่าดัชนีราคาสินค้าปรับขึ้นทันที ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ราคาที่อยู่อาศัย

ดังนั้นไม่ต้องการให้นักการเมืองชูนโยบายที่สร้างเงื่อนไขเพื่อต้องการเอาชนะคู่แข่ง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องทำตามสัญญา ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ

นายวรวุฒิ กาญจนกูล เลขาธิการ สมาคมรับสร้างบ้าน กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจสร้างบ้านให้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันแล้ว แต่ค่าแรงสำหรับช่างฝีมือให้เกินกว่า 300 บาท

ดังนั้นถ้าฐานค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นไปอีก จะผลักดันให้ค่าแรงทั้งระบบสูงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่จะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น และจะกระทบกับภารเศรษฐกิจโดยรวมให้ราคาสินค้าทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นไปด้วย ก็จะทำให้ภาคธุรกิจโดยภาพรวมจะอยู่ลำบากมากขึ้น

รอบที่ผ่านมา ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ธุรกิจเราก็กระทบไปแล้วรอบหนึ่ง เริ่มปรับตัวได้แล้ว อย่างไรก็ดี เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งเราก็มีการปรับขึ้น ทุกปีอยู่แล้ว แต่อยากให้ปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ไม่อยากให้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 30% ตามที่ นักการเมืองเสนอนโยบาย

ด้าน นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าให้ไปดูผลจากการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งช็อกกันทั้งประเทศ และครั้งนี้กับนโยบายปรับขึ้นขั้นต่ำ 400 บาท ผลกระทบเหมือนการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท

หากปรับทันทีกระทบกับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และเอสเอ็มอีที่ต้องเดือดร้อนหนักแน่นอน ขณะเดียวกันสินค้าจะต้องแพงทั้งแผ่นดิน เมื่อต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าก็ต้องปรับตามต้นทุนที่เพิ่ม แต่ถ้ามีการปรับค่าแรงเป็นเฟสๆ อาจจะไม่กระทบมากนัก

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดือดร้อนทั้งประเทศแน่นอน หากนโยบายค่าแรงงานขั้นต่ำกว่า 400 บาทต่อวันเป็นจริง โดยจะเห็นได้จากเมื่อครั้งปรับค่าแรงงานขั้นต่ำจาก 200 บาทต้นๆ เป็น 300 บาทในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาคอุตสาหกรรมได้รับผล กระทบจำนวนมาก ทั้งไทย และ ต่างชาติ และหันไปลงทุนในประเทศ อื่นๆ อย่าง เมียนมา และเวียดนาม ที่ค่าแรงถูกกว่าอย่างมาก

ยิ่งเป็นสินค้าไทยต้องใช้แรงงานสูง ค่าแรงสูงหรือต่ำมีผลต่อต้นทุนสินค้า ดังนั้นหากค่าแรงปรับขึ้นขนาดนี้ทำให้คนลงทุนต้องคิดหนัก และจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุนจากหลายๆ ประเทศ

เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้นข้าวของต้องราคาแพงขึ้นตามไปด้วย มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นก๋วยเตี๋ยวในราคาใกล้ๆ หลักร้อยบาท จึงอย่าเอานโยบายนี้มาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง ดีกว่า เพราะถ้าทำไม่ได้อาจจะเสียหาย ด้วยประชาชนมีความคาดหวังให้เกิดขึ้น และส่งผลเสียหายต่อประเทศมากกว่า การใช้นโยบายประชานิยมมาเป็นนโยบายหลักเป็นเรื่องไม่ดีนัก เพราะผลสุดท้ายอาจจะเหมือนในต่างประเทศอย่างเวเนซุเอลา ที่กำลังประสบปัญหายากจนอย่างหนัก

หากดูจากทัศนะของภาคเอกชนหลายส่วนแล้ว ดูเหมือนจะไม่ค่อยปลื้มกับนโยบายพรรคการเมืองเรื่องขึ้นค่าแรงเท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจไม่พ้น 3 พรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทยประชาธิปัตย์พลังประชารัฐต่างก็ชูเรื่องนี้ทั้งสิ้น

โดยทั้ง 3 พรรคถูกคาดหมายว่าจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1-3 และเชื่อว่ามีอย่างน้อย 1 พรรคได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

เมื่อถึงเพลานั้นต้องจับตาดูว่าจะขึ้นค่าแรงอย่างที่ประกาศไว้ได้จริงหรือไม่ และจะมีแรงกระเพื่อมในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และราคาสินค้ามากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน