ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล-โทรคมนาคม ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่เหลือและให้คืนคลื่นได้ – กสทช. เตรียมแจงผู้ประกอบการ-สื่อ 17 เม.ย.นี้

ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 โดยจากคำสั่ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือจำนวนรายละ 13,622 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าใบอนุญาต และให้คืนใบอนุญาตได้ ซึ่งกสทช. จะตั้งอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชย ดังนั้นจะส่งผลให้เหลือช่องทีวีน้อยลง และอุตสาหกรรมสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในเบื้องต้นกสทช. ประเมินว่าจะมีผู้คืนใบอนุญาต 4-5 ราย

ส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จาก กสทช. ที่ไม่สามารถชำระเงินค่าประมูลตามกำหนดเวลาเดิมได้ ให้ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับ เพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูล ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะพิจารณานำเงินประมูลคลื่นทั้งหมดแบ่งออกเป็น 10 งวด กำหนดจ่ายปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นได้นับเป็นงวดแรก ซึ่งจะสามารถนำเงินที่ยังไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาประมูลคลื่น 700 MHz ในอัตราที่มีเหตุผล

สำหรับการกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่น 700 MHz กสทช. จะจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ทั้ง 45 MHz ที่จะนำออกประมูลได้ภายในปลายเดือนเม.ย.นี้ และกสทช. มองว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะรับเงื่อนไขในการยืดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz โดยการประมูลคลื่น 700 MHz

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากนี้ กสทช. จะทำรายละเอียดชี้แจงสื่อมวลชนและผู้ประกอบการ ในวันพุธที่ 17 เม.ย. 2562 เวลา 11.00 น. โดยการออกมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้จะได้ประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่ได้ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย

ส่วนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระบุว่า ในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาพปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาด้านความพร้อมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต อันส่งผลถึงความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นย่าน 700 MHz และ 2600 MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G อันทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มีความมั่นคงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน