คาดสิ้นปีบาทแข็งค่าขึ้น

คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีก่อนเป็นผลจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้นมาจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาทรงตัวในช่วงปลายปีที่แล้วหลังแข็งค่าขึ้นมากในปี 2561

ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูง การขายทองคำเพื่อทำกำไร อีกทั้งยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น อัตราเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำก็ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะปานกลางถึงยาว

ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2562 เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจอ่อนค่าลงจากเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าสู่ระดับศักยภาพและมุมมองตลาดที่คาดว่า Fed มีแนวโน้มดำเนินนโยบายที่ dovish มากขึ้น

สำหรับปัจจัยเรื่องค่าของเงินหยวนนั้น มองว่า เงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นต่อไปได้ หากสงครามการค้าคลี่คลายลงในช่วง ครึ่งหลังของปี 2562 โดยในไตรมาสแรกปีนี้เริ่มมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น และในระยะต่อไปทรัมป์ก็น่าจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นต่อไป เพื่อต้องการปรับท่าทีทางการเมืองไปสู่การเลือกตั้ง ในปี 2563 โดยเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยเสริม การแข็งค่าของเงินบาทได้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะยังเกินดุลในระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะปรับดีขึ้นตามความไม่แน่นอนที่น่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินบาท

ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา อีไอซีจึงประเมินว่า เงินบาทในปี 2562 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกรอบดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเงินบาทในปีก่อนที่ประมาณ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับผลกระทบของเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้น ประเมินว่า แม้เงินบาทจะผันผวนหรือแข็งค่าขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาแต่ผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกไทยยังคงจำกัด เนื่องจากการศึกษาของอีไอซีพบว่า ปัจจัยด้านอุปสงค์ส่งผลต่อการส่งออกไทยมากกว่าปัจจัยด้านราคา (การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน)

ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยเอื้อให้ผู้ประกอบการไทยนำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน