กฟผ. จับมือสวทช. อวดอุปกรณ์ดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า ชวนอู่โมดิฟายราคาย่อมเยาไม่เกิน 5 แสน ถูกกว่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ และอนาคตแบตเตอรี่จะถูกลง

แปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า – น.ส.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2019 ว่า กฟผ. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยต่อยอดโครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือรถไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่เชิงพาณิชย์ นำเทคโนโลยีที่วิจัย พร้อมคู่มือให้อู่รถยนต์ที่สนใจยื่นเสนอติดตั้งนำร่อง 3 แห่งภายในต้นปี 2563

เบื้องต้นคาดราคาติดตั้งเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าใหม่ประมาณ 200,000 บาทต่อคัน และติดตั้งแบตเตอรี่ราคาประมาณ 300,000 บาท รวมทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ใหม่ และอนาคตแบตเตอรี่จะถูกลง โดยเน้นการนำรถยนต์ใช้แล้วมาติดตั้ง เป็นแนวทางพึ่งพาตนเองแทนการพึ่งเทคโนโลยีต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว แต่อยากเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้ราคารถอีวีใหม่ มีราคาสูงถึงคันละ 3 ล้านบาท แต่เทคโนโลยี ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ดัดแปลงของกฟผ. ที่วิจัยร่วมกับสวทช. มีราคาติดตั้งประมาณ 200,000 บาทต่อคัน และแบตเตอรี่ราคาประมาณ 300,000 บาท ในอนาคตแบตเตอรี่ราคาจะถูกกว่านี้อีกแน่นอน ล่าสุดมีอู่สนใจแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอู่เคยติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) แต่ปัจจุบันมีรถยนต์ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวีน้อยลง จึงหันมาสนใจชุดอุปกรณ์ดัดแปลง”

กฟผ. ได้วิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลง หรือไอ-อีวี ตั้งแต่ปี 2559 โดยระยะแรกนำร่องเปลี่ยนรถยนต์ฮอนด้าแจ๊ส เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และนำมาใช้ได้จริง และขณะนี้อยู่ในช่วงเฟส 2 ที่เป็นการทดลองกับรถนิสสัน อัลมิร่า 1200 ซีซี จำนวน 2 คัน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้ และอยู่ระหว่างทำลองรถยนต์โตโยต้า อัลติส ขนาด 1800 ซีซี จำนวน 2 คัน คาดจะศึกษาเสร็จเดือนพ.ย.นี้ พร้อมเชื่อว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ จะสามารถดัดแปลงได้เช่นกัน และจะพิจารณามาตรการส่งเสริมการติดตั้ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน