กกร. แนะรัฐบาลใหม่คลอดมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจอีกระลอก – ทำสมุดปกขาวเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รัฐบาลใหม่คาดแล้วเสร็จมิ.ย.นี้

เอกชนแนะรัฐบาลใหม่กระตุ้นศก. – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกครั้งหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคออกมาโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากไม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก่อนจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น

ทั้งนี้ มีเพียงปัจจัยเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัฐบาลที่ 10 ที่ผ่านมา ถือเป็นพระราชพิธีที่มีความสวยงาม มีการเผยแพร่ต่อออกสู่สายตาคนทั่วโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ทาง กกร. จึงขอติดตามปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้านเพื่อประกอบการประเมินเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในเดือนก.ค. 2562

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการส่งออกที่ถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กกร. จึงยังคงกรอบประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 3.7-4% การส่งออกคาดการณ์อยู่ที่ 3-5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.8-1.2% ซึ่งหากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ มีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นและลากยาวต่อเนื่อง อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยโตหลุดต่ำกว่า 3% ได้ ดังนั้นรัฐคงจะต้องเร่งหาตลาดใหม่เพื่อรองรับ”

โดย กกร. ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำสมุดปกขาวเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รัฐบาลใหม่ประกอบการพิจารณากำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ คาดจะแล้วเสร็จมิ.ย. และสามารถยื่นให้รัฐบาลใหม่ได้ในเดือนก.ค.นี้ เช่น ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ทุก 3 เดือน เพื่อออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากไม่มีการประชุมมานานแล้ว รวมทั้งเร่งดำเนินการความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเสนอปัญหาเรื่องค่าแรง ซึ่งต้องการให้ลอยตัว และให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลางและต่างจังหวัด

นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในภาคอีสานที่คาดว่าจะเห็นผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มลดลงมาก ซึ่งมีเกษตรกรบางส่วนปรับตัวหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบรุนแรงอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน