อพท. ชง ‘สุโขทัย-น่าน-สุพรรณ’ ชิงเมืองครีเอทีฟโลกจากยูเนสโก หวังอัตลักษณ์ไทย เพลงฉ่อยก้องโลก กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย

ชิงเมืองครีเอทีฟโลก – นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. เตรียมเสนอ 3 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย น่าน และสุพรรณบุรี ให้กระทรวงวัฒนธรรม ภายใน 31 พ.ค.นี้ เพื่อส่งเข้าประกวดเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก (ครีเอทีฟ ซิตี้) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งการประกวดครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับจังหวัดดังกล่าวให้มีชื่อเสียงในระดับโลก และช่วยกระตุ้นกาสรท่องเที่ยวด้วย

การเสนอ 3 จังหวัดให้ยูเนสโกพิจารณา ที่ผ่านมา อพท. ได้รับมอบหมายจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้ไปคัดเลือกจังหวัดต้นแบบที่มีความพร้อม โดยดูจุดเด่น ที่มีทั้งอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ รวมทั้งยังมีความพร้อมขององค์กรในระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็งและมีความตั้งใจในการพัฒนาจังหวัดของตัวเองให้มีจุดดึงดูด ซึ่งการส่งเข้าประกวดครั้งนี้ แยกออกเป็น 2 แบบ คือ จังหวัดสุโขทัย และน่าน จะส่งชิงเมืองครีเอทีฟแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ส่วนสุพรรณบุรี จะส่งไปชิงเรื่องเมืองครีเอทีฟแห่งดนตรี

“ทั้งนี้ ปี 2563 อพท. เตรียมจัดงบลงไปพัฒนา 3 จังหวัด วงเงินประมาณ 21 ล้านบาท ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบตามหลักเกณฑ์การทำให้เป็นเมืองครีเอทีฟ ซึ่งจากการลงพื้นที่ก็พบว่า สุโขทัย มีความน่าสนใจเพราะเป็นเมืองที่มีงานปั้น การทำเครื่องเงิน เครื่องสังคโลก เช่นเดียวกับน่าน ที่มีหัตกรรม ผ้าทอโบราณที่มีชื่อเสียง จึงส่งเข้าชิงรางวัลด้านศิลปวัฒนธรรม ขณะที่สุพรรณบุรี จะส่งชิงเมืองแห่งดนตรี เพราะมีดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง เช่น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และยังเป็นเมืองที่เป็นบ้านเกิดของนักร้องมากที่สุดของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองครีเอทีฟไปแล้ว 2 แห่ง คือ จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2558 โดยถูกยกให้เป็นเมืองแห่งอาหาร เพราะภูเก็ตมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางอาหาร มีอัตลักษณ์ที่หารับประทานที่อื่นไม่ได้ มีสูตรลับที่ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว และใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ส่วนอีกแห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 ซึ่งถ้าหากไทยรับการขึ้นทะเบียนอีก 3 จังหวัด ก็ช่วยให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงกับการเป็นเมืองครีเอทีฟของโลกได้

สำหรับการสร้างเครือข่ายเมืองครีเอทีฟของยูเนสโก ถือเป็นโครงการใหญ่ของยูเนสโกที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2547 โดยจะเปิดรับเมืองต่างๆ เข้าไปชิงรางวัลทุกๆ 2 ปี ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ โดยแบ่งประเภทออกเป็น 7 ด้าน คือ เมืองแห่งการออกแบบ เมืองแห่งอาหาร เมืองแห่งภาพยนตร์ เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ เมืองแห่งดนตรี เมืองแห่งวรรณกรรม และเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเมืองที่จะได้รับคัดเลือก ตั้งมีการสร้างสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน