ครม.รับทราบงบปี’63 ล่าช้า 3 เดือนเริ่มใช้ม.ค. – ยืนยันไม่กระทบ 30 บาท-บัตรคนจน แต่ไม่มีงบลงทุนในช่วง 3 เดือน

งบปี’63 ล่าช้า 3 เดือน เริ่มใช้ม.ค. – นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการพิจารณางบประมาณปี 2563 ว่าจะล่าช้าไป 3 เดือน หรือเริ่มได้ประมาณ เดือนม.ค. 2563 เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณของรัฐบาล ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องของการใช้จ่ายของรัฐ เพราะให้ยึดกรอบงบประมาณปี 2562 ไปก่อน ส่วนความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำตามปกติของระบบราชการจะไม่กระทบ ส่วนงบลงทุนในช่วง 3 เดือนคงยังไม่มี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากงบประมาณปี 2563 ล่าช้าไป 3 เดือน จะไม่กระทบกับการใช้จ่ายซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ อาทิ รายจ่ายบัตรทอง 30 บาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เพราะสำนักงบประมาณกันเงินไว้แล้ว และงบประมาณแต่ละปีส่วนใหญ่มากกว่า 80% เป็นรายจ่ายประจำของภาครัฐ

ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานทบทวน เพิ่มเติม และยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจึงรวบรวมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ปลายเดือนก.ย. 2562 และในวาระที่ 2-3 ต้นเดือนธ.ค. 2562 ก่อนเสนอให้วุฒิสภากลางเดือนธ.ค. 2562 จากนั้นจึงนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลใหม่แล้ว สำนักงบประมาณจะเริ่ม ทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้วางแผนการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่ได้หาเสียงกับประชาชนแต่จะต้องอยู่ภายในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ขณะที่ 4 หน่วยงานซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องมีการหารือเพื่อร่วมกันกำหนดกรอบรายได้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลปัจจุบันได้เห็นของกรอบวงเงินงบประมาณราย จ่ายปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันโครงการลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนและก่อสร้างไม่เกิน 1 ปี เริ่มมีการทำสัญญาและก่อหนี้มากขึ้นซึ่งหากเริ่มก่อหนี้ และทำสัญญาในช่วงนี้ จะสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงเดือนต.ค. 2562 เป็นต้นไป ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่น่ารุนแรงมากนัก โดยในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีงบลงทุน 640,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สำนักงบประมาณตั้ง เป้าหมายเบิกจ่ายได้สูงสุดประมาณ 90% เนื่องจากส่วนราชการได้เร่งรัดทำสัญญาและก่อหนี้ผูกพันได้จำนวนมากแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 10% คาดว่า จะก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน สำนักงบประมาณก็จะพับไป หรือตัดทิ้ง”

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมครม. ยังอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ โดยมีวงเงินปรับลดลงสุทธิ 17,049.47 ล้านบาท จากเดิม 1.851 ล้านล้านบาท เป็น 1.834 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ปรับลดสุทธิ 17,980.47 ล้านบาท
แยกเป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ลดลง 16,972.43 ล้านบาท จากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทาสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คล้องสิบเก้า-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง, รถไฟทางคู่ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ที่เหลือเป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลง 1,008.04 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน