‘โชติ’ สั่งเช็กร้านเช่ามอ’ไซค์หลังนักท่องเที่ยวตายเร่งหามาตรการล้อมคอก – ผนึกความร่วมมือกับ สวทช. ยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สั่งเช็กร้านเช่ามอ’ไซค์ – นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยหลังรับตำแหน่งปลัดฯอย่างเป็นทางการ 2 เดือน ว่า ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นจะเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะความปลอดภัยจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) ที่มักพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจำนวนมากจากการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ในการท่องเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว จึงจะหารือกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อเร่งหามาตรการแก้ปัญหาเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมการท่องเที่ยว รวบรวมร้านที่เปิดบริการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์กับนักท่องเที่ยวว่าทั่วประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ จุดไหนบ้างที่นักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุบ่อย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากอะไร ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไขมีอะไรบ้าง สถิติที่จะนำมาประเมิน อาทิ อุบัติเหตุบนถนนเส้นไหนมีสถิตินักท่องเที่ยวเช่ารถจักรยานยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

“ยอมรับว่าการไปห้ามไม่ให้ร้านเช่ารถจักรยานยนต์ปล่อยเช่าแก่นักท่องเที่ยวเป็นเรื่องยาก และอาจกระทบต่อผู้ประกอบการได้ จึงมองว่าการยกร่างกฎหมายใหม่ให้เป็นกฎหมายกลางครอบคลุมความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เป็นอีกจุดที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขได้ โดยราววันที่ 5-6 ก.ค.นี้ จะนัดหารือเรื่องนี้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติม”

ขณะเดียวกัน มีภาคเอกชนท่องเที่ยวแสดงความเป็นห่วงตัวเลขของนักท่องเที่ยวในปีนี้ หลังจากพบว่าในไตรมาสแรก (ม.ค.-เม.ย. 2562) ขยายตัว 1.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง เมื่อดูจากปีที่ผ่านมา เคยขยายตัว 8-10% และจากที่ตนเองได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตและพังงา ก็ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนท่องเที่ยวว่านักท่องเที่ยวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจนเงียบเหงา ซึ่งน่าจะเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อจัดทำกรอบการวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับ ของแหล่งท่องเที่ยว 3 แบบ ได้แก่ ภูเขา ทะเล และวัฒนธรรม รวมทั้งนำร่องระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“ปีที่แล้วไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 38 ล้านคน สร้างรายได้หมุนเวียนในไทยกว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ก่อให้เกิดการสร้างงานถึง 4.5 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็ได้เข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติในไทยในการท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์กว่า 80% เช่น ป่า ชายหาด เกาะ และปะการัง จึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขและป้องกันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม เพราะหากเสื่อมโทรม ก็จะส่งผลให้คนมาเที่ยวน้อยลง”

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเว่า จากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวทำให้มีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยต่อยอดการลดต้นทุนและการทำลายธรรมชาติ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ภายใน 1 ปีนับจากนี้ หลังจากนั้นจะจัดทำแนวทางเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการปฏิบัติต่อไป ส่วนโมเดลในต่างประเทศเกี่ยวกับการบริหารขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันมีการเปิดให้ล็อกอินเพื่อแจ้งการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางออนไลน์ รวมถึงซื้อตั๋วเข้าชมล่วงหน้า เมื่อจำนวนเข้าชมในแต่ละวันครบตามกำหนดแล้ว จะไม่เปิดขายตั๋วเพิ่ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน