นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. การบริหารจัดการ

แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย เสาแรก คือ กฎหมาย ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2562 เสาที่สอง แผนแม่บท ซึ่ง ครม. ได้ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว และเสาที่สาม หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพ ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ 46/2560 จัดตั้ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา

ทั้งนี้ สทนช. ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มเสาหลักที่สี่ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคเพียงพอ น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญในแผนแม่บทน้ำฯ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1. มีการกำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิตเพิ่มเติม 2. กำหนดหน่วยงานหลัก และหน่วยงานสนับสนุน ไม่เพียงแต่หน่วยงานราชการเท่านั้น ยังมีภาคเอกชนมาร่วมด้วย และ 3. มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ 34.62 ล้านไร่

ทั้งนี้ เพื่อให้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ทุกหมู่บ้านเข้าถึงดื่มสะอาดได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม จำนวน 75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573 มีการพัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้านลบ.ม. ทั้งแหล่งน้ำใหม่และพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 13 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตร 10,000 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 6,000 ล้านลบ.ม. สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 764 แห่ง ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ มีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน