เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวว่านำสมาชิกเดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม โดยมีนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) มารับแทน โดยเรียกร้องให้ ขบ. บังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัด และแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะ ที่ปัจจุบันมีวิ่งให้บริการอยู่กว่า 50,000 คันนั้น ส่งผลกระทบต่อคนขับแท็กซี่ ทำให้มีการแย่งผู้โดยสาร และทำให้รายได้ของรถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมาย ลดลงกว่า 30% ทั้งนี้ยืนยันว่า เครือข่ายสหกรณ์ ไม่ได้ต่อต้านการนำแอปพลิเคชันมาใช้ แต่ต้องการให้การให้บริการเป็นไปอย่างถูกต้อง

“เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ มีความพร้อมร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Smart Taxi ที่พัฒนาโดยคนไทยแล้ว แต่จะต้องรอให้ขบ. แก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น กล้องวงจรปิด และมิเตอร์รูปแบบใหม่ ที่ใช้บัตรประจำตัวคนขับสแกนเพื่อยืนยันตัวตนก่อนออกให้บริการ และหวังว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3-6 เดือนนี้ โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้ เนื่องจากเมื่อมีผู้โดยสารเรียกใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น smart taxi ซึ่งจะเป็นการเรียกใช้รถแท็กซี่ที่มีอยู่ในระบบ และเอารถที่ผู้ขับตัดสินใจไปรับผู้โดยสารก็ จะตัดปัญหาเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารออกไปได้ด้วย”นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ขอให้กระทรวงคมนาคม ทบทวนโครงสร้างค่าโดยสารในปัจจุบันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากสาเหตุหลักของการปฏิเสธผู้โดยสาร เป็นเพราะหากวิ่งให้บริการจะไม่คุ้มค่ากับต้นทุน และขอให้มีการปรับโครงสร้างแท็กซี่ใหม่ ให้เปิดเป็นสัมปทานให้มีผู้ประกอบการกำกับดูแล หากมีการกระทำความผิดจะลงโทษโดยการยึดใบอนุญาตสัมปทานได้ทันที

วันเดียวกันนายวรพล แกมขุมทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และสมาชิกรวมกว่า 50-70 คนขับรถแท็กซี่ประมาณ 20 คันมาจอดบริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม และเดินขบวนเข้ามายังภายในกระทรวงคมนาคม เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพแท็กซี่ ต่อนายอาคม ต้องการให้ ขบ. ยุติบทบาทของอูเบอร์ และแกร็บคาร์ ซึ่งเป็นแท็กซี่ที่ผิดกฎหมายที่เข้ามาแย่งอาชีพขับแท็กซี่ของคนไทยจนทำให้สมาชิกกว่า 2 แสนคนได้รับความเดือดร้อน

“เราต้องการให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บล็อกแอพพลิเคชั่นของอูเบอร์ และแกร็บคาร์ รวมไปถึงบล็อคการโฆษณาเชิญชวนให้ขับ และใช้บริการผ่าน เฟสบุ๊ค และช่องทางโซเชียลต่างๆ ให้หมด เราจะไม่ยอมให้แอพที่มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ผิดจริยฑรรมเติบโตขึ้นในบ้านเมืองเรา สมาคมฯ ขอต่อต้านการดำเนินการที่ผิดกฎหมายนี้และขอความเป็นธรรมจากภาครัฐให้ช่วยดูแลแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายด้วย”นายวรพล กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรืออูเบอร์ และตัวแทนจากมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) ว่าที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะให้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำระบบบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการเดินทางของอูเบอร์ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้บนสมาร์ทโฟนมาให้บริการแท็กซี่ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับระบบดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาและสรุปผลได้ภายใน 6 เดือน – 1 ปี
“ระหว่างที่เรากำลังศึกษาความเหมาะสม กระทรวงได้ขอความร่วมมือให้อูเบอร์ยุติการให้บริการไปก่อน เพราะไม่งั้นจะเกิดปัญหาจับกุม ทะเลากัน ซึ่งตัวแทนอูเบอร์ก็รับปากในที่ประชุมว่าจะยุติการให้บริการ”นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนนางเอมี่ กล่าวว่า ในที่ประชุมเรารับปากหรือตกลงร่วมกันเฉพาะประเด็นให้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกันเท่านั้น อูเบอร์ไม่ได้รับปากเรื่องจะยุติการให้บริการ ยืนยันที่จะเดินหน้าให้บริการต่อไป เพราะบริการของอูเบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบบริการร่วมเดินทางของอูเบอร์มากกว่า ขณะที่อินโดนิเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีกฎหมายรองรับและสามารถให้บริการได้ ส่วนกรณีที่เครือข่ายสมาชิกถูกทางการไล่จับและปรับนั้น ที่ผ่านมูอุเบอร์ได้ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน