น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์และขยายช่องทางตลาดโอท็อปตามแนวทางประชารัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า กรมฯ เชิญภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล การบินไทย คิงเพาเวอร์ ซีพี ออลล์ เซ็นทรัล ฟู๊ด รีเทล เดอะมอลล์ กรุ๊ป ตำรับไทยสมุนไพร นารายภัณฑ์ บางจากปิโตรเลียม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สยามเจมส์ กรุ๊ป สยามพิวรรธน์ เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ศูนย์อบรมแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม แพทเทิร์นไอที สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมสปาไทย สมาคมสินค้าตกแต่งบ้าน และ สมาคมออกแบบสร้างสรรค์ มาร่วมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์โอท็อป รวมทั้งปัญหาของสินค้าโอทอปจากมุมมองของผู้ประกอบการและภาคเอกชน

โดยภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า สินค้าโอท็อปของไทยควรจะมีการพัฒนาให้มีรูปแบบเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้นโดยต้องเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นหลัก การผลิตสินค้าต้องมีความต่อเนื่อง เนื่องจากบางครั้งเมื่อสินค้าเริ่มติดตลาดและผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สินค้านั้นอาจสูญเสียตลาดและลูกค้าในอนาคตได้ ผู้ผลิตต้องมีความเข้าใจในกลไกตลาดเป็นอย่างดี ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และต้องประยุกต์ให้เข้ากับกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ผลิตสินค้าตามความต้องการของตนเองที่อยากจะผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯ จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาปรับแนวทางการพัฒนาสินค้าโอท็อปของไทยและช่องทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งได้กำหนดแผนงานสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนไว้แล้ว ตั้งแต่การคัดสรรกลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์โอท็อป 3-5 ดาว โดยให้ความร่วมมือคัดสรรและให้คำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การจัดอบรมพัฒนาทักษะผู้ผลิต/ผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงกลยุทธ์การตลาด การสร้างตราสินค้า (แบรนด์) และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย”

“เบื้องต้นกรมฯ คัดเลือกผลิตภัณฑ์โอท็อปจากกลุ่มโอทอป 3-5 ดาว ปี 2559 โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ คัดสรรกลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบทางราชการ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตและความมุ่งมั่นที่จะรับการพัฒนา จำนวน 2,380 ราย (จาก 8,039 ราย) เข้าสู่การคัดสรรสู่ Best OTOP 77 Experience ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก และกลุ่มสมุนไพรที่มิใช่อาหาร จังหวัดละ 1 ราย/กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 308 ราย ที่จะนำร่องการพัฒนาการตลาดและให้เข้าถึงตลาดอย่างยั่งยืน โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับช่องทางการตลาดทั้ง ออฟไลน์ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านจำหน่ายของที่ระลึก สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว และออนไลน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ช) ช่องทางทีวี แคตตาล็อก ตลอดจนการพัฒนาร้านค้าต้นแบบจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปเพื่อสามารถขยายเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ในรูปแบบของ “แฟรนไชส์ โมเดล” ต่อไป” น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ผลิตภัณฑ์โอท็อป 3-5 ดาว มีจำนวนทั้งสิ้น 8,039 ราย แบ่งเป็น ระดับ 5 ดาว จำนวน 1,985 ราย (คิดเป็น 25%) ระดับ 4 ดาว จำนวน 3,826 ราย (คิดเป็น 47%) และ ระดับ 3 ดาว จำนวน 2,228 ราย (คิดเป็น 28%) และสามารถจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์โอท็อปได้ดังนี้ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 2,745 ราย (คิดเป็น 34%) กลุ่มอาหาร จำนวน 2,195 ราย (คิดเป็น 27%) กลุ่มของใช้ของตกแต่ง จำนวน 1,970 ราย (คิดเป็น 25%) กลุ่มสมุนไพรที่มิใช่อาหาร จำนวน 693 ราย (คิดเป็น 9%) และ กลุ่มเครื่องดื่ม จำนวน 436 ราย (คิดเป็น 5%)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน