หมูราคาพุ่งรอบหลายปีหลังอหิวาต์ระบาดเพื่อนบ้าน หน้าเขียงเดือนมิ.ย. สูงเฉียด 20% เกือบ 160 บาท/ก.ก.-ส.หมูจี้รัฐบาลร่วมมือเพื่อนบ้านเพิ่มความเข้มงวดมาตรการป้องกัน

หมูราคาพุ่งรอบหลายปี – นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมหมูปี 2562 คาดว่ามีจำนวน 20.56 ล้านตัว ลดลง 10.22% จากปีก่อนที่มีผลผลิตรวม 22.90 ล้านตัว คิดเป็นเนื้อหมู 1.54 ล้านตัน ลดลง 9.41% จากปีก่อน 1.70 ล้านตัน โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 68.49 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 61.24 บาท/ก.ก. โดยแหล่งผลิตอยู่ใน 5 จังหวัด คือ ราชบุรี 17.29% ปราจีนบุรี 6.10% ฉะเชิงเทรา 5.91% ชลบุรี 5.21% นครราชสีมา 4.59% โดย 95% ของผลผลิตบริโภคในประเทศ และอีก 5% ส่งออก

ทั้งนี้ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม มีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนมิ.ย.2562 ราคาอยู่ที่ 71.79 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 13.88% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีราคาอยู่ที่ 63.04 บาท/ก.ก. และเพิ่มขึ้น 26.25% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีราคาอยู่ที่ 56.86 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 157.50 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 20.52% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีราคาขายที่ 130.68 บาท/ก.ก. และเพิ่มขึ้น 18.86% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีราคาขายที่ 132.50 บาท/ก.ก.

ส่วนผลผลิตที่ลดลงเกิดจากสถานการณ์ราคาที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาหลายปีส่งผลให้เกษตรกรลดการเลี้ยง แต่ในไตรมาส 2 ปีนี้ราคาหมูมีชีวิต ไตรมาสที่ เฉลี่ยอยู่ที่ 70.82 บาทต่อก.ก. ปรับสูงขึ้นจาก 7.35% จากไตรมาส 1 ปีนี้ที่มีราคา 65.97 บาท/ก.ก. ซึ่งถือเป็นราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 59.01 บาทต่อก.ก. สูงขึ้นต่อเนื่องรอบมากกว่า 3 ปีซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของราคา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีมติร่วมกันควบคุมราคาให้อยู่ในระดับ 75-76 บาทต่อก.ก. เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ขณะนี้การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ของไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกัน หมูมีชีวิตที่เพิ่มขึ้น และควบคุมโรค ASF งบประมาณจากงบกลางวงเงิน 53.60 ล้านบาท ซึ่งต้องชื่นชมกรมปศุสัตว์ที่ดำเนินการป้องกันเรื่องนี้ได้ดีมาก เพราะขณะนี้เพื่อบ้านของไทย อาทิ จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็พบการระบาดของ ASF แล้ว การเลี้ยงหมูในไทยประมาณ 95% เป็นฟาร์มขนาดใหญ่มีสุขอนามัยได้มาตรฐาน และอีกประมาณ 5 เป็นฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยจึงง่ายต่อการควบคุมโรคระบาด

สำหรับการเจรจาส่งออกเนื้อหมูปรุงสุกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) คาดว่าปี 2562 มีแม่พันธุ์จำนวน 1.047 ล้านตัว การส่งออกสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น 10% เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 4% การนำเข้าเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น 5% เหลือเนื้อสุกรบริโภค พัฒนาฟาร์มสุกรเข้าสู่มาตรฐานให้ได้ทั้งหมด และดำเนินการให้มีเขตปลอดโรค FMD ในประเทศจำนวน 1.45 ล้านตัน หรือคิดเป็นอัตราบริโภค 22 ก.ก./คน/ปี พัฒนาระบบโรงฆ่าให้ได้มาตรฐาน กำหนดเกณฑ์มาตรฐานด้านการขนส่ง ขึ้นทะเบียนผู้ค้าส่ง

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสามคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของ AFS ทำให้ไทยต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดเข้ามาในประเทศ โดยภาคเอกชนพร้อมให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานรัฐบาล รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ในด้านการปฏิบัติและวิชาการ ปัจจุบันไทยได้ส่งออกเนื้อสุกรไปยังกัมพูชา และลาว มากขึ้น เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนเนื้อหมู ที่ทั้ง 2 ประเทศ เคยนำเข้าจากจีนและเวียดนาม ที่มีปัญหาการระบาดของโรคนี้ ทำให้เนื้อสุกรไม่เพียงพอต่อการบริโภค

“การระบาดของ AFS ที่ลาว ต้องยอมรับน่ากังวล เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับลาวเป็นเสรีมาก ที่ทำได้คือมาตรการป้องกันที่ทั้งรัฐบาลลาวและไทยต้องร่วมมือกันเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้น ซึ่งสมาคมทำทั้งสวดมนต์ภาวนา ทำทุกอย่างให้รอดจากสถานการณ์นี้ไปให้ได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน