เงินเฟ้อมิ.ย.สูงขึ้น 0.87% ในอัตราที่ชะลอตัวลง พาณิชย์ลดเป้าเงินเฟ้อเหลือ 1% ตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มหดตัวลง ยันยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

เงินเฟ้อมิ.ย.สูงขึ้น 0.87% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า สูงขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก ซึ่งสินค้ากลุ่มพลังงานหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี

ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดยังราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ผักสด โดยเฉพาะ พริกสด มะนาว กะหล่ำปลี สูงขึ้นถึง 18.89% จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดสลับกับฝนตกชุก ทำให้พืชผักเน่าเสียได้ง่าย ประกอบกับปีที่ผ่านมาราคาฐานต่ำ เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 4.41% โดยเฉพาะเนื้อสุกร ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในและต่างประเทศ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง คือข้าวสารเจ้า ข้าวเหนียว สูงขึ้น 4.02% ความต้องการมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าวในสต๊อกมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตออกตลาดน้อยในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 0.92% ตามความต้องการที่มากในช่วงเปิดภาคการศึกษา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 ลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะเคลื่อนไหวในกรอบ ที่ 0.7-1.3% หรือ ค่ากลาง 1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 0.7- 1.7% หรือ ค่ากลาง 1.2% ตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มหดตัวลง

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากผู้ผลิตยังมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สินค้าเกษตรหลายรายการราคาเพิ่มขึ้น เช่น ผลปาล์มดิบ และยางพารา ซึ่งอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวก็สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน