น.ส.ศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากกระแสการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิดการค้าขายออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ปี 2562 คาดว่ามูลค่ายอดขายเส้นไหมของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากปี ก่อนที่มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยราคาเส้นไหมเพิ่มเป็น 1,800 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) หรือเพิ่มขึ้น 20% จากราคาเมื่อปีก่อนที่ 1,500 บาท/ก.ก. หากเป็นเส้นไหมจีไอ จะราคาเพิ่มเป็น 2,500 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้น 14% จากราคาเมื่อปีก่อนที่ 2,200 บาท/ก.ก.

ทั้งนี้ จากกระแสความนิยมผ้าไหมไทยเกิดขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต่างชาติ สนใจเดินทางเข้ามาติดต่อ เพื่อขอข้อมูล แหล่งผลิต อาทิ ญี่ปุ่น จีน และสเปน โดยญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาซื้อส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้ามาเมืองไทย เที่ยวเมืองไทยแล้วจะนิยมซื้อเสื้อผ้า สำเร็จรูปของแต่งบ้านด้วยผ้าไหมไทย กลับไปเป็นของฝาก

ส่วนจีนที่เข้ามาเจรจา ขอการสนับสนุนเพื่อจะมาลงทุนในเรื่องของการตั้งโรงงานผลิตผ้าไหมไทย ส่งไปขายในจีน เพราะขณะนี้เศรษฐีจีนนิยมผ้าไหมไทยทำวอลเปเปอร์เพื่อประดับตกแต่งบ้าน นักธุรกิจจีนต้องการตั้งโรงงานเพื่อผลิตเส้นไหม ผ้าไหมส่งไปป้อนผลผลิตที่ลดลงในประเทศจีน จากนโยบายที่รัฐบาลจีนต้องการลดพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ลดพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงทำให้ผลผลิตผ้าไหมในจีนลดลง นักธุรกิจจีนจึงมองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตผ้าไหมในไทยว่าสามารถป้อนความต้องการของตลาดจีนที่มีจำนวนมากได้

ส่วนสเปนที่เดินทางเข้ามาพบกรมหม่อนไหม ส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบ เสื้อผ้า ทั้งที่เป็นแบรนด์อินเตอร์ และผลิตในแบรนด์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศ มาขอคำแนะนำเรื่องผ้าไหมเพื่อผลิต โดยล่าสุด Maria Lafuente นักออกแบบอิสระของสเปน ที่ออกแบบผลิตภัณฑให้กับหลายๆ แบรนด์ในโลก อาทิ H&M แอร์เมส เป็นต้น โดยการที่ Maria Lafuente ต้องการผ้าไหมคุณภาพดีไปผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อินเตอร์ที่ต้องการ และระบุว่าต้องการผ้าไหมไทยเพื่อใช้ผลิตสินค้า

“ผ้าไหมสีทองของไทยกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ของเศรษฐีจีน หลายประเทศที่ผลิตผ้าไหมได้ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว ส่วนผ้าไหมไทยมีสีทอง ไทยผลิตได้และได้มาตรฐานการส่งออกเป็นผ้าไหมอินทรีย์ ทำให้การส่งออกผ้าไหมในปีนี้ของไทย มีการเติบโตมากขึ้น ทั้งในเรื่องของปริมาณ และผลักดันให้ราคาสูงขึ้น และเชื่อว่าหากยังมีความต้องการและผู้ผลิตไทยทำผ้าไหมได้มาตรฐานการส่งออก ประกอบกับตลาดขายออกไลน์มีการเติบโตอย่างมากจะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหม มีรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้น”

น.ส.ศิริพร กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังมีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศได้แก่ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ จีน นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐ สิงคโปร์ อินเดีย และฮ่องกง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน