สรรพากรเหงื่อตกลดภาษี 10% ยอมรับรายได้รัฐวูบ กระทบเสถียรภาพคลัง เร่งหาช่องทางทดแทน พร้อมเข็นกฎหมายอี-บิสสิเนส รีดภาษีกูเกิล เฟซบุ๊ก

สรรพากรเหงื่อตกลดภาษี 10% – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังเร่งศึกษาการจัดทำนโยบายภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบโดยมีการศึกษาการเก็บภาษีเพิ่มหลายชนิด เช่น การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิสสิเนส) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในการจัดทำรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีการเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พิจารณาผลักดันต่อต่อไป

ทั้งนี้ การเก็บภาษีอี-บิสสิเนส ส่วนแรกคือกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีการศึกษาแนวทางการเก็บภาษีเพิ่มเติมในส่วนของภาษีการให้บริการด้านดิจิทัล (ดิจิทัล เซอร์วิส แท็กซ์) ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มเก็บแล้ว เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสมีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอีก 3% จากกูเกิล เฟซบุ๊ก ที่มาให้บริการในฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการเรียกเก็บ โดยหักที่จ่ายจากรายได้ทันที ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการลดการเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ระยะเวลา 2 ปี ก็ต้องดูถึงความเป็นธรรมด้วย ในกรณีหากไม่เก็บภาษีกับคนขายออนไลน์ แต่ยังเก็บภาษีผู้คนที่ทำมาค้าขายปกติ

ส่วนกรณีที่จะมีแนวทางเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม หากจะให้เป็นธรรมต้องเก็บภาษีส่วนต่างกำไรจากการซื้อขายหุ้น ด้วยนั้น เรื่องนี้ทางกรมสรรพากรก็มีการศึกษาอยู่เช่นกัน โดยต้องดูภาพรวมและเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะต้องมีการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบทั้งข้อดีข้อเสีย แม้จะทำให้กรมฯ มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ก็ดูผลกระทบจากตลาดหลักทรัพย์ควบคู่กันไปด้วย และที่สำคัญต้องรอการตัดสินใจระดับนโยบาย เพราะเรื่องนี้มีความอ่อนไหวมาก

“คิดว่าการเก็บภาษีกำไรซื้อขายหุ้น ยังไม่ใช่โจทย์เร่งด่วนที่ต้องทำในขณะนี้ เพียงแต่ก็อาจจะต้องศึกษาไว้ก่อน ขณะที่กรณีการลดหย่อนภาษีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ผลศึกษาก็ชัดเจนว่า คนที่ได้ประโยชน์เป็นกลุ่มคนระดับบน แต่จะทำอย่างไรต่อไปก็ต้องขึ้นกับนโยบาย โดยในวันนี้เรายังยืนยันตามแผนพัฒนาตลาดทุน ก็คือให้จบสิทธิประโยชน์ภาษีในปีนี้”

นายเอกนิติ กล่าวถึงนโยบายให้มีการปรับลดภาษีเงินได้ 10% ว่า รมว.คลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดูแล แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะลดภาษีรูปแบบใด รายได้ของประเทศย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้นจะต้องดูว่ารายได้หายไปเท่าไหร่ จากนั้นต้องหาวิธีหารายได้กลับเข้ามาทดแทน เพราะปกติแล้วกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่เก็บรายได้ 70-80% ของรายได้รวมประเทศ ดังนั้นรายได้ที่หายไปอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย จึงต้องพิจารณานโยบายในภาพรวมและรอความชัดเจนจาก สศค.

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดให้บริการรับชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำร่องในตราสารอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ จ้างทำของ กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะ ซึ่งผู้เสียอากรสามารถยื่นขอชำระอากรได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และทางแอพพลิเคชัน ได้ด้วยตนเอง หรือผ่านผู้ให้บริการให้เป็นผู้ชำระอากรแทนก็ได้ ซึ่งจะสามารถชำระอากรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนการจัดทำเอกสารด้วยกระดาษ ลดปัญหาการคำนวณมูลค่าอากรแสตมป์ผิดพลาด ส่งเสริมให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบวงจร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน