ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร่วง ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน ผลพวงเศรษฐกิจ-การค้าโลกฉุดลงคลอง ลุ้นตัวเลขเดือนก.ค.ปริ่มน้ำ เล็งรื้อเป้าทั้งปีใหม่ส.ค.นี้

เอ็มพีไอทรุดต่ำสุดรอบ 29 ด. – นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิ.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 100.49 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.54% เป็นอัตราการลดลงที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่มีการปรับฐานคำนวณเอ็มพีไอเมื่อเดือนม.ค. 2559 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้คำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศลดลง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.28%

“สศอ. ยังคงเฝ้าระวังและติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากผลของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอย่างใกล้ชิด เพราะยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบวกนอกจากการจัดตั้งรัฐบาลและมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารราชการในประเทศแล้ว อีกทั้งการแถลงดัชนีเอ็มพีไอประจำเดือนก.ค. ของสศอ. ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะหดตัวมากเหมือนเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายต้องรอข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2562 และครึ่งแรกของปีนี้ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนส.ค.ก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาทบทวนการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีเอ็มพีไอ และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ทั้งปีใหม่ จากปัจจุบันคาดอยู่ในระดับเดียวกันที่ 1.5-2.5%”

ทั้งนี้ สอดคล้องกับภาพรวมการนำเข้าทุกหมวดสินค้าไม่รวมทองคำหดตัว 9.1% ได้แก่ สินค้าทุนหดตัว 11.3% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 4% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำหดตัว 8.1% ซึ่งเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 35 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับ 76.4 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 77.7 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

โดยดัชนีเอ็มพีไอเดือนมิ.ย. 2562 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากอุตสาหกรรมอาหารหดตัว 1.1% โดยการส่งออกอาหารหดตัวถึง 11.7% อิเล็กทรอนิกส์หดตัว 5.3% รถยนต์หดตัว 8.52% จากยอดขายในประเทศที่หดตัว 2.1% ลดลงเป็นเดือนแรกในรอบ 30 เดือน เคมีภัณฑ์หดตัว 5% ปิโตรเคมีหดตัว 3.49% ผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 3.3% ตามการผลิตรถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้าหดตัว 4.9% พลาสติกหดตัว 4.8% เส้นใยสิ่งทอหดตัว 5.31% ผ้าผืนหดตัว 0.06% เสื้อผ้าสำเร็จรูปหดตัว 1.41%

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจและการค้าโลกจะประสบภาวะชะลอตัว และปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ภาครัฐและเอกชนของไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น ขณะที่ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อยที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง ทำให้กำลังซื้อลดลงตามไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน