‘เฉลิมชัย’ เร่งฟื้น 2 โครงการ ขุดอุโมงค์เติมน้ำเขื่อนภูมิพลวงเงิน 6.3 หมื่นล้าน และผันน้ำโขงอีก 1.56 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ เร่งฟื้น 2 โครงการ – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะเร่งฟื้น 2 โครงการ คือ 1. เติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เพราะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อป้อนน้ำอุปโภค บริโภค ทำการเกษตรและรักษาระบบนิเวศ โครงการนี้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี 2538 เป็นโครงการที่ต้องขุดอุโมงค์ผ่านภูเขาระยะทางประมาณ 61.52 กิโลเมตร (ก.ม.) จะสามารถเติมน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลได้ 1,790 ล้านลบ.ม./ปี ภายใต้วงเงินก่อสร้าง 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้คิดมานานพอควรอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่เป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลย เพราะผ่านการศึกษามาหมดแล้ว และ 2. โครงการผันน้ำโขง โครงการนี้มีหลายจุดที่สามารถดำเนินการเพื่อนำน้ำโขงเข้ามาใช้ ในเวลาที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ส่วนวงเงินก่อสร้างโครงการมีมูลค่าเท่าไหร่ ต้องแล้วแต่ว่าจะดำเนินการในจุดไหน

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานร่วมสำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อเร่งดำเนินการหาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่ม อาทิ แก้มลิง ฝายเก็บน้ำ สระน้ำในไร่นาของกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ซึ่งแหล่งน้ำขนาดเล็กสัปดาห์นี้กรมชลประทานต้องสรุปตัวเลขของแหล่งน้ำ และการเพิ่มปริมาณน้ำที่จะเก็บกัก ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเลย

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ได้สั่งการให้กรมเสริมการเกษตร (กสก.) เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อหามาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร เบื้องต้นพบว่าพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายมากกว่า 8 แสนไร่ ในส่วนที่เสียหายเป็นความเสียหายที่เกิดกับพืชที่ทำการเกษตรไปแล้ว มีการเพาะปลูกไปแล้ว ส่วนภาคอีสานยังไม่ได้เริ่มเพาะปลูกต้องลุ้นว่าน้ำฝนที่จะเข้ามาในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ จะมีมากเพียงใด หากไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ จะต้องดำเนินการหาพืชหรืออาชีพเสริมอะไรให้เกษตรกรในภาคอีสาน ส่วนเกษตรกรที่ปลูกไปแล้วจะช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

สำหรับมาตรการเติมน้ำในเขื่อนในระยะเร่งด่วนขณะนี้ได้ของบประมาณกลางปีเพื่อกรณีฉุกเฉินประมาณ 75 ล้านบาท ให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการทำฝนเทียมเพื่อเติมน้ำในเขื่อน เพื่อบรรเทาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และให้น้ำต้นทุนสามารถมีเพียงพอใช้ไปจนถึงแล้งหน้า

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ลักษณะของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ต.สบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จะสูบน้ำ จากอ่างเก็บน้ำน้ำยวมตอนล่างผ่านอุโมงค์ไปลงห้วยแม่งูด เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านลบ.ม. โดยใช้เขื่อนน้ำยวมตอนล่าง ตั้งบนแม่น้ำยวมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทำหน้าที่เก็บกักน้ำและทดน้ำเข้าสู่สถานีสูบน้ำ บ้านสบเงา ตั้งอยู่บริเวณบ้านสบเงา อ.บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำยวม ห่างจากเขื่อนน้ำยวมตอนล่างประมาณ 22 ก.ม. ทำหน้าที่สูบน้ำ ขึ้นสู่ถังพักน้ำก่อนปล่อยเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.3-8.5 เมตร ความยาวรวม 61.85 ก.ม. งบประมาณโครงการ 66,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 7 ปี (พ.ศ. 2564-2570)

โครงการ นี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 516 ล้านหน่วยต่อปี มูลค่า 1,855 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม 9.3 แสนไร่ มูลค่า 3,104 ล้านบาท เสริมความมั่นคงในการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำบาดาลปีละ 612 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า การสร้างอุโมงค์ส่งน้ำลอดใต้พื้นที่ป่าต่างๆ จะกระทบพื้นที่ 2,100 ไร่ บริเวณน้ำยวมตอนล่าง ระยะทางประมาณ 62 ก.ม. แต่การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ จะให้อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 15.70% อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.33 ต้นทุนน้ำ 3.27 บาทต่อลบ.ม. ปัจจุบัน กรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสมโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.)

สำหรับ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ที่ จ.เลย เนื่องจากมีค่าลงทุนสูงมาก จึงต้องแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดย ปี 2559-2560 กรมชลประทานศึกษาโครงการระยะที่ 1 มีเป้าหมายเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่บางส่วนของโขงอีสานและชี และเติมน้ำในอ่างฯ ที่มีอยู่เดิม โดยได้ศึกษา บริเวณปากแม่น้ำเลย พื้นที่ตามแนวคลองชักน้ำช่วงที่ 1 พื้นที่ตามแนวอุโมงค์แรงดัน พื้นที่ตามแนวคลองลำเลียงน้ำ การผันน้ำชี-มูล พื้นที่ตามแนวคลองลำเลียงน้ำช่วงที่ 2 พื้นที่ตามแนวอุโมงค์ทางน้ำเปิดช่วงที่ 1 พื้นที่ตามแนวคลองลำเลียงน้ำช่วงที่ 3 พื้นที่ตามแนวอุโมงค์ทางน้ำเปิดช่วงที่ 2 พื้นที่ตามแนวคลองลำเลียงน้ำช่วงที่ 4 พื้นที่ตามแนวอุโมงค์ทางน้ำเปิดช่วงที่ 3 และพื้นที่ตามแนวคลองลำลียงน้ำ ช่วงที่ 5 และอาคารปล่อยน้ำ/ระบาย

เป้าหมายการพัฒนาระยะที่ 1 จะสามารถ ผันน้ำไปลงเขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.69 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด 27 อำเภอ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ มูลค่าลงทุน 157,045 ล้านบาท ระยะเตรียมการ 3 ปี ก่อสร้าง 6 ปี รวม 9 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าแล้วเสร็จประมาณเดือนเม.ย. 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน