ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะให้นโยบายในการทำงาน 4 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรรม (ส.ป.ก.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์กับเกษตรกร และประชาชนมาก เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเบื้องต้นหลายหน่วยงานได้รายงานลายระเอียดการทำงานและแผนดำเนินการในปี 2563 แล้ว

ล่าสุด พด. ได้รายงานแผนการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่ง มีบางอย่างต้องปรับให้สดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดแผนการแก้ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยปีงบประมาณ 2563 ได้ของบประมาณดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เกษตรกรและประชาชนเท่านั้น ที่สำคัญแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว จะส่งมอบกลับคืนให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแล

“สำหรับงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่ขอเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท เป็นการขอมาเพื่อดำเนินกิจการในปีงบประมาณ 2563 ในการหาพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มให้เกษตรกร แต่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กตามพันธกิจของพด. ส่วนเรื่องของโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ส่วนตัวสนใจอยากทำเพื่อเป็นช่องทางสำคัญในการเก็บน้ำให้เกษตรกร แต่ต้องศึกษาก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร หากพบว่าดีเหมาะแก่การเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้เกษตรกรก็จะดำเนินการ แต่หากพบว่ายังไม่ดีพอหรือยังมีข้อเสียจะไม่ดำเนินการต่อ”

แหล่งข่าวจาก พด.กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณพัฒนาด้านแหล่งน้ำกรมพัฒนาที่ดิน ไว้มากมายดังนี้คือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป้าหมาย 200 แห่ง งบประมาณ 1,004 ล้านบาท, สระเก็บน้ำ/ขุดลอก 109 แห่ง 47 จังหวัด 468.236 ล้านบาท, อ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง 6 จังหวัด 56.276 ล้านบาท, ฝายน้ำล้น 39 แห่ง 17 จังหวัด 184.813 ล้านบาท, ระบบท่อส่งน้ำ 18 แห่ง 13 จังหวัด 130.778 ล้านบาท, คลองส่งน้ำ 26 แห่ง 11 จังหวัด 164.453 ล้านบาท

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป้าหมาย 10 แห่ง ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สกลนคร เชียงใหม่ ล้าพูน เชียงราย นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา ภายใต้งบประมาณ 95 ล้านบาท และ โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เป้าหมาย 40,000 แห่ง 65 จังหวัด ยกเว้นจังหวัดปทุมธานี นครนายก นครปฐม อ่างทอง นนทบุรี สมุทรปราการ สิงห์บุรี อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และภูเก็ต งบประมาณ 824 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเพิ่มเติมเป้าหมายสระน้ำในไร่นา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรที่มีความต้องการ เพิ่มขึ้นอีก 4,642 บ่อ 66 จังหวัด ทั่วประเทศ งบประมาณ 95.625 ล้านบาท และ เสนอตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ยึดคืนตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 และพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบาย รัฐบาล ตามความเหมาะสมของสภาพพื นที่และการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เป้าหมาย 10 จังหวัด งบประมาณ 19.856 ล้านบาท

ทั้งนี้ พด. มีแผนในการพัฒนาแหล่งน้ำแบ่งได้ 3 โครงการ คือ 1. พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2524-2562 ดำเนินการได้มากกว่า 9,000 แห่ง มีความสามารถเก็บกักน้ำได้ 460 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 1.9 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 3.2 ล้านครัวเรือน โดยโครงการฯจะสามารถดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่สระเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำการขุดลอกหนองน้ำคลองลำห้วย และฝายต้นน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์น้ำรักษาความชุ่มชื้นในดินและกักเก็บน้ำแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้งยังมีงานปรับปรุงพื้นที่และจัดทำระบบส่งน้ำในไร่นา จำแนกเป็นคลองส่งน้ำในไร่นา และระบบท่อส่งน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2555-2562 เป็นจำนวน 65 แห่ง มีความสามารถเก็บกักน้ำได้ 3.3 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 40,000 ไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 10,000 ครัวเรือน โครงการนี้จะดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ โดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่ระดับชุมชน ให้มีการบริหารจัดการน้ำด้านเกษตรกรรม หรือการอุปโภค บริโภค ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรด้านการใช้น้ำ ปรับปรุงบำรุงดินผ่านการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำและฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี

และ 3.โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกร โดยการขุดสระน้ำขนาด 1,260 ลบ.ม. ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง ดำเนินการตั้งแต่ปี 2548-2562 เป็นจำนวนมากกว่า 500,000 บ่อ มีความสามารถเก็บกักน้ำได้ 524 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์มากกว่า 500,000 ครัวเรือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน