จับตา‘รัฐบาล’สู้วิกฤต‘ภัยแล้ง’เปิดแผน‘แก้ปัญหา-ช่วยเหลือ’

จับตา‘รัฐบาล’สู้วิกฤต‘ภัยแล้ง’เปิดแผน‘แก้ปัญหา-ช่วยเหลือ’ – ‘ภัยแล้ง’ ยังกลายเป็นวิกฤตที่รุนแรงต่อเนื่อง เพราะปีนี้เกิดความแปรปรวนจากสภาพอากาศรุนแรง ทำให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาคลาดเคลื่อนไปมาก

หลังจากมีการประกาศเมืองไทยเข้าสู่ฤดูฝนปลาย พ.ค.2562 โดยคาดว่าปริมาณฝนปีนี้น่าจะตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-10% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากฝนทิ้งช่วงนานกว่าคาดการณ์ ปริมาณฝนก็มีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 30-40%

เมื่อประกาศเข้าสู่ฤดูฝนคนไทยส่วนใหญ่ต้องไถหว่านทำการเกษตร ในเขตกรมชลประทานก็จะมีการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูก หลังจากมีการจัดสรรน้ำไว้เพื่ออุปโภค บริโภค ด้วยหวังว่าจะมีน้ำฝนใหม่เข้ามาเติม

ทว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด ปริมาณฝนไม่ได้ตกมาเติมในเขื่อนเพื่อเป็นน้ำต้นทุน พื้นที่ทำเกษตรที่เคยประกาศไว้ว่าน้ำท่าไม่มีปัญหา เกษตรกรเพาะปลูกไปหมดแล้ว ด้วยคิดว่าฝนจะมาตามนัด

พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวเกินแผนมากกว่า 1.2 ล้านไร่ ทำให้ต้องส่งน้ำต้นทุนให้กับชาวนาที่ร้องขอการสนับสนุนน้ำจากชลประทาน เพราะข้าวกำลังจะยืนต้นตาย

แต่ภัยแล้งในรอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเพียงปริมาณน้ำในประเทศที่น้อยลงอาจไม่เพียงพอ แต่แม่น้ำโขงแม่น้ำนานาชาติ ที่ไหลผ่านหลายประเทศหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยใน 7 จังหวัดของไทย คือ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว

จนไม่สามารถสูบน้ำดิบเพื่อมาผลิตน้ำประปาในบางพื้นที่ของไทย ภาพรวมของภัยแล้งในรอบนี้เกิดครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดในทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน








Advertisement

ปัญหาภัยแล้งลามหนักโดยเฉพาะภาคอีสาน กระทั่งหลายจังหวัดมีปัญหาน้ำกินน้ำใช้ หนักสุด ร.พ.สุรินทร์ น้ำไม่เพียงพอ จนรัฐบาลต้องเร่งประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงเจาะบ่อบาดาลจำนวน 8 บ่อ เพื่อให้ร.พ.สุรินทร์ได้ใช้

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำ งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปี 2563

สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยและฟื้นฟูภัยแล้ง เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน โดยให้บูรณาการงบประมาณบริหารจัดการน้ำเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท จาก 21 หน่วยงาน จำนวน 17,283 รายการ

เพื่อให้ผ่านวิกฤตภัยแล้งเพื่อให้มีน้ำเหลือใช้ไปถึงเข้าหน้าฝนหน้าปี 2563 หลังจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำแผนงานที่ผ่านมติที่ประชุมไปจัดลำดับความสำคัญตาม หลักเกณฑ์และข้อสังเกตในที่ประชุม

จากนั้นจะเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาและเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ 1 พ.ค. – 11 ส.ค.2562 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 1% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มากกว่าค่าเฉลี่ย 3%

สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือนส.ค. ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก เดือนก.ย.ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือนต.ค.ปริมาณฝนในทุกภาคต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 10%

อย่างไรก็ตามเมืองไทยยังได้ข่าวดีจากการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน ‘วิภา’ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก มีฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มี น้ำเพิ่ม 1,560 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบันมีน้ำผิวดินทั้งประเทศ 40,062 ล้าน ลบ.ม. (49%)

ภาคเหนือ กลาง อีสาน และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ถึง 26 แห่ง ด้านสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 1,457 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 21 ล้าน ลบ.ม.

หากไม่มีน้ำมาเติม จะระบายได้อีก 54 วัน หรือจะมีน้ำใช้ไม่ถึง 2 เดือน

ความก้าวหน้ามาตรการเร่งด่วนที่ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1.ปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ถึง 11 ส.ค. 2562 จำนวน 4,214 เที่ยวบิน และมีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด

2.การสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและการสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำสำหรับพื้นที่นาปี-พืชไร่ จำนวน 214 เครื่อง และสำหรับการอุปโภค-บริโภค 71 เครื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สูบน้ำ 40,154,373 ลบ.ม. แจกจ่ายน้ำ 9,660,471 ลิตรให้กับ 384,346 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจกจ่ายน้ำ 8,091,370 ลิตร

3.การพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ สทนช. ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนการระบายน้ำเป็นรายอ่างเก็บน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. – 31 ต.ค. 2562 ในลักษณะเช่นเดียวกับการปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยมีเงื่อนไขคาดการณ์ปริมาณน้ำ เข้าอ่างเก็บน้ำใช้ปีฝนแล้ง และน้ำในเขื่อนปลายฤดูฝนจะต้องไม่น้อยกว่าระดับน้ำ ต่ำสุด

มาตรการที่ 4 และ 5 สทนช. ร่วมกับ กฟผ. กรมชลประทาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการประปานครหลวง หารือวางแผนการปรับลดการระบายน้ำจากสี่เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ต้นฤดูแล้ง 2562/63 และวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อการประปานครหลวง

เมื่อสถานการณ์แล้งวิกฤต สิ่งที่ตามมาคือ ขณะนี้พบพื้นที่เกษตรเสียหายสิ้นเชิงแล้ว 8 แสนไร่ เป็นข้าว 6 แสนไร่ เป็นพื้นที่เสียหายมากที่สุดมี ขอนแก่น นครราชสีมา เพชรบุรี เชียงราย และชัยภูมิ

ส่วนอีก 10.879 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย ข้าวอาจยืนต้นตายเพราะน้ำไม่พอ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ เพชรบูรณ์

นอกจากนี้อีกประมาณ 8.9 ล้านไร่ยังไม่ได้ทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสาน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกร ระบุความเสียหายเบื้องต้นจากน้ำแล้ง กระทบและสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ 1.5 หมื่นล้าน

ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวออกมายืนยันอีกครั้งว่า หากส.ค.นี้ฝนไม่ตก ข้าวไทย สินค้าส่งออก มากกว่าปีละเกือบ 10 ล้านตัน อุตสาหกรรมข้าวไทยจะสูญเสียมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ประเมินว่าภัยแล้งปีนี้วิกฤตหนักพื้นที่เกษตรอาจเสียหายกว่า 20 ล้านไร่

ต้องรอดูฝีมือรัฐบาลว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร และเยียวยายืดลมหายใจให้เกษตรกรไทยแบบไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน