รัฐบาลแจงทำอะไรบ้างรับมือผลกระทบสงครามการค้า-พาณิชย์ตั้งวอร์รูม-ทำโรดโชว์ ส่วนด้านการลงทุน ‘สมคิด’ สั่งบีโอไอดูแล ซึ่งจะดำเนินการ 3 เรื่อง

รัฐบาลแจงมาตรการรับมือ – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการตั้งคำถามถึงรัฐบาลทำอะไร เพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งรัฐบาลนับแต่เข้าบริหารประเทศได้มีการดำเนินการหลายอย่างไปแล้ว เพื่อรองรับการหันเหทางการค้าและการลงทุน ด้านการค้าที่จะเป็นผลด้านบวกคือสินค้าไทยมีโอกาสส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐในจีน หรือสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีน เช่น ชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบนั้นในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการ 1. ตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที มีคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์ เพื่อจะได้ผลักดันการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้าและรายตลาด 2. ทำโรดโชว์ สินค้าไทยต้องทำอย่างมีเป้าหมายเพื่อเจาะตลาดสหรัฐและจีน รวมถึงขยายตลาดใหม่ไปยังอินเดีย ตะวันออกกลางและอาเซียน

3. บูรณาการการทำงานของทูตพาณิชย์และทูตเกษตร นับเป็นครั้งแรกที่สองหน่วยงานจะขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรไปพร้อมๆ กัน 4. ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี อีกประการหนึ่ง การหันเหทางการค้าอาจนำไปสู่การทะลักของสินค้าเข้าไทย กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องนี้แล้วโดยจะใช้กลไกพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ประกอบการไทย

ในส่วนของการหันเหทางการลงทุน คาดว่าจะเป็นผลกระทบด้านบวกต่อไทย เพราะจะมีนักลงทุนที่คิดย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐและจีน โดยเฉพาะนักลงทุนที่จะย้ายออกจากจีน เช่นนักลงทุนสหรัฐ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ณ เวลานี้ มีจำนวน 10 ราย ที่ตัดสินใจจะมาลงทุนในไทย เช่น บริษัท Ricoh บริษัท Delta และคาดว่าจะมีเพิ่ม เพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบหมายให้บีโอไอไปดูแล ซึ่งจะดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1. ออกมาตราการที่มากกว่าสิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อดึงการลงทุนมาไทย 2. ตั้งทีมเฉพาะกิจดึงนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง 3. จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป โดยให้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุน และเพิ่มความคล่องตัวในการอนุมัติ

ที่กล่าวมานี้เป็นการดำเนินการของส่วนงานหลักที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสงครามการค้าโดยตรง ยังมีงานด้านอื่นๆ ที่รัฐบาลขับเคลื่อนคู่กันไป เช่น การเสริมศักยภาพและการลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและเกษตร รวมถึงการส่งเสริมทักษะแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาเพิ่ม แม้จะมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก แต่แนวทางที่ได้ทำและที่จะทำต่อไปจะนำไปสู่โอกาสเพิ่มศักยภาพในการส่งออก ยกระดับฐานการผลิต ส่งเสริมการถ่ายโอนความรู้ และเพิ่มการจ้างงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน